วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล่า “ชาวตะเคียนเตี้ย”

โทรศัพท์ดังขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง เสียงที่คุ้นชินถามไถ่ถึงการทำงานในวันพรุ่งนี้ “ตกลงว่าพรุ่งนี้ว่าไง..............” บทสนทนาจบลงด้วยความรู้สึกที่คุ้นเคย โอเค้ พร้อมลุย ไปกันเลย

เวลา 05.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 54 อ้าวพวกเรา “เก็บของ ล้อหมุนหกโมงเช้าจ้า” คุณพ่อคุณลูก ตื่นด่วน แม่ต้องไปทำงานแล้วววววว เป้าหมายของเรา “เช้านี้ที่กบินทร์บุรี... ต้องไปถึงพัทยากลาง ชลบุรี...ก่อนเก้าโมง” พลขับพร้อม ผู้โดยสายพร้อม(รึเปล่า) แต่ก็ไปโลดคะ

แวะเพิ่มพลังด้วยอาหารเช้า ณ จุดพักรถบางปะกง บรรยากาศตอนเช้านี่เยี่ยมไปเลย “คนไม่มาก รถไม่เยอะ อากาศเย็นสบาย สดชื่นจริง” เราถึงที่หมายกันตรงเวลาเลยคะ เรารีบเดินจ้ำอ้าวเข้าห้องประชุมโดยทิ้งลูกให้พ่อดูแล... ดีจริงไรจริง

การพูดคุยกันในวันนี้น่าสนใจมาก ทุกคนมากันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นการพูดคุยกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 30 คน ในเรื่องของ “การศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างช่องทางการตลาด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการของคนพิการโดยเฉพาะ” มีผู้พิการเข้าร่วมด้วย และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างฉะฉาน บ่งบอกถึงการทำงานเพื่อสังคมผู้พิการที่ช่ำชอง ในที่ประชุมมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ที่เห็นผลเลยโดยไม่ต้องรอ คือการได้พบปะกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ได้รู้ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร เป็นต้น พอจบการประชุมเราก็ตรงดิ่งไปแนะนำตัวและทำความรู้จัก พ่วงด้วยขอเบอร์โทรติดต่อในทันที

หมุดหมายใหม่ในช่วงบ่าย ล้อหมุนมุ่งหน้าสู่ “ศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนตะเคียนเตี้ย” เราเลี้ยวซ้ายออกจากพัทยากลาง มุ่งหน้าสู่ โรงโป๊ะ ระยะทางน้อยกว่าร้อยกิโลเมตร กับการคุยโทรศัพท์นับสิบครั้งเพื่อถามทาง ก็ทางมันวกไปวนมา แต่ด้วยความเชี่ยวชาญของคุณเสมียน ก็ทำให้เรามาถึงโดยไม่หลงเลย(แอบกังวลอยู่ในใจว่าจะกลับออกมาถูกไหมนะ) เมื่อลงจากรถ ก็สะดุดเข้ากับชายพิการ นั่งอยู่บนรถเข็น แต่กลับส่งยิ้มมาให้ทั้งที่เราเป็นคนแปลกหน้า “คุณเจี๊ยบหรือเปล่าครับ” โอ้ เจอแล้ว “คุณเสมียนใช่ไหมคะ...ขอบคุณมากคะ” แล้วเราก็พูดคุยกันอย่างถูกคอ ก่อนจะฉุกคิดขึ้นได้ว่า เรามาทำงานนะคะ......

พี่เล็ก ผู้เป็นทั้ง อสม. แกนนำชุมชน ที่ปรึกษาศูนย์ ฯลฯ เข้ามาทักทายและยิ้มให้ พร้อมทั้งกุลีกุจอ หาพัดลม ที่หลับที่นอนให้น้องใยไหม(หลับอุตุอยู่ในรถ) และแล้ว ใยไหมก็ตื่นนอนและเริ่มสำรวจสถานที่ใหม่ทันที ส่วนเราก็ขอพูดคุยกับคุณอำพร เจียดกำจร หรือ พี่เล็กก่อน(คนอื่นยังทำงานกันอยู่อย่างมุ่งมั่น) พี่เล็กเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ว่า

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยกลุ่มคนพิการ ครอบครัวและอาสาสมัคร ผู้นำชุมชนและกลุ่มมวลชนต่างๆ ผู้มีจิตอาสาและเต็มใจมาช่วยในงานด้านคนพิการ รวมถึงเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย ร่วมกับ นายสุเมธ พลคะชา และนายเสมียน สุโรรัมย์ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ


โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ...
๑. พัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวในตำบลตะเคียนเตี้ยสู่ความยั่งยืน และ
๒. ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ที่ศูนย์แห่งนี้ มีวิสัยทัศน์ที่ “เน้นการพัฒนาคนพิการในด้านต่างๆ ได้แก่ การแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ ดำรงชีวิตได้ย่างมีสุข โดยการเสริมสร้างความรู้ และทักษะผ่านการจัดการความรู้”
โดยมีสโลแกนที่ว่า “สามัคคี จิตอาสา นำพาคนพิการ มีสุข”
พี่เล็กบอกเล่าด้วยความสนุกสนานถึงการล้มลุกคลุกคลานกว่าที่จะจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาได้ เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึก “ภูมิใจ” ในสิ่งที่พี่เล็กได้ทำมา จนถึงทุกวันนี้


“ที่นี่ ทำอะไรบ้างคะ เพราะมองดูรอบๆ เห็นผลิตภัณฑ์หลากหลายเลยคะ”
สาเหตุที่ดูว่ามีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เนื่องจาก ๑. เน้นการที่ผู้พิการแต่ละคนสามารถทำอาชีพที่สนใจและมีความถนัดก่อน และ ๒. เน้นวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่แสดงออกในความเป็นตะเคียนเตี้ย รวมถึงวัสดุเหลือใช้ที่มี เช่น สายรัดของ ตะปูที่แกะออกจากไม้พาเลท เป็นต้น ดังนั้น จึงมีอาชีพในช่วงแรกเริ่มของศูนย์ ดังนี้
๑. อาชีพทำไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งมี ๒ ขนาดให้เลือก คือ
อันใหญ่ อย่างหนา ราคาขาย ๓๕ บาท
อันเล็ก กะทัดรัด มีกระป๋องหุ้ม ราคาขาย ๒๕ บาท

ลักษณะพิเศษไม้กวาดทางมะพร้าวของที่นี่ คือ มีความประณีต หนาและทนทานไม่หลุดง่าย ทางศูนย์ฯ รับซื้อทางมะพร้าวจากผู้พิการทางสติปัญญาในตำบลตะเคียนเตี้ยซึ่งช่วยกันเหลา ในกระบวนการต่างๆ ทั้งการเข้าด้าม การตัดและการเย็บเอ็น มีการกระจายงาน และรายได้แก่คนพิการตามศักยภาพและความเหมาะสม
ทั้งนี้ไม้กวาดแต่ละด้าม แต่ละขั้นตอน คนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการผลิต ทั้งคนพิการที่บกพร่องทางด้านสติปัญญาซึ่งเป็นผู้เหลาทางมะพร้าว ผู้ปกครองคนพิการทางสมอง คนพิการตัดไม้ไผ่และเตรียมไม้ไผ่ คนพิการทางกายเข้าด้ามและเย็บเอ็น รวมกลุ่มทำไม้กวาด กว่า ๑๐ คน สามารถผลิตไม้กวาดได้ถึง ๒๕ ด้ามต่อวัน ทำให้มีไม้กวาดมากกว่า 500 ด้ามต่อเดือน
ปัจจุบันทางศูนย์พยายามหาตลาดเพิ่มเติม เช่น ร้านค้า สถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน หรือโรงงานต่างๆ เป็นต้น

๒. อาชีพพวงกุญแจร้อยลูกปัดและงานดัดลวด
มีมากมายหลายแบบให้เลือกชม อาทิ โดเรมอน ไก่ กระต่าย หมาพุดเดิล ปลาหมึก ผึ้ง เสือ และรูปสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนงานดัดลวดก็มี จักรสาน ก้างปลา รูปหัวใจ หุ่นยนต์ มอเตอร์ไซต์ เวสป้า ราคาตั้งแต่ ๑๕ - ๕๐ บาท สำหรับเป็นของฝาก ของชำ งานแต่ง งานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ งานครบรอบต่างๆ เป็นต้น
๓. อาชีพแกะสลัก รับแกะสลักทุกชนิด เช่น แกะป้าย โต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิดที่เป็น
ไม้เนื้อแข็ง ทั้งนี้หากใครมีขอนไม้ รากไม้ ปีกไม้เนื้อแข็งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และต้องการจะสนับสนุนคนพิการในตำบลตะเคียนเตี้ย ทางศูนย์ก็ยินดี

ที่น่าสนใจเพิ่มเติมคืออาชีพเสริมของ คุณเสมียน สุโรรัมย์ จากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งเป็นแกนนำหลักของศูนย์แห่งนี้ ยังมีความสามารถในการรับคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซ่อมคอมพิวเตอร์ ลง Windows โปรแกรมต่าง ๆ และรับสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน Word PowerPoint Excel อีกด้วย

เมื่อต้นปี 54 ทาง บ.มิตซุบะ ได้บริจากไม้พาเลท มาให้ทางศูนย์ (จัดส่งมาให้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20-30 อัน) จึงมีโจทย์ใหม่เกิดขึ้นว่า “แล้วจะเอาไปทำอะไร” ซึ่งทางทีมก็เริ่มต้นทำกระถางต้นไม้ ที่ใส่ของที่ระลึก ของชิ้นเล็กๆ เป็นต้น แต่ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ระหว่างการออกร้านขายของตามงานต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจแบะเวียนเข้ามาเยี่ยมที่ศูนย์ ก็มีความเห็นว่า “ทำไมไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือ ของใช้ที่จำเป็นล่ะ” ทำให้ทีมเกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมา

โอกาสดีที่ศูนย์ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ หรือ อ.ตุ้ม จากสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (SMEDI) ได้เข้ามาจัดฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้พาเลท ต่อมาเมื่อวันที่ ๖-๗ กรกฎาคม 54 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรมาฝึกอบรมพร้อมให้เครื่องมือเบื้องต้น เช่น เครื่องกลึง เครื่องแกะกะลามะพร้าว เลาเตอร์ และแท่นเจาะ เป็นต้น

ปัจจุบัน ทางศูนย์มี Order เข้ามาเรื่อยๆ จากเทศบาลตะเคียนเตี้ย โรงเรียนวัดเวรุ ชาวบ้านในชุมชน เป็นต้น ส่วนทางด้านราคา เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามคำสั่ง เช่น ชุดทำงาน ชุดกินข้าว เก้าอี้ ชั้นวางของ ที่เสียบไม้กวาด ตู้ยาฯลฯ ปัจจุบันเป็นการตั้งราคาเป็นชิ้นไป ยังไม่มีการกำหนดราคาอย่างชัดเจน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนทีมที่ทำเฟอร์นิเจอร์ประกอบด้วยพี่โรจน์ พี่เล็ก พี่น้อย และพี่ปราณี และยังไม่มีการขยายเครือข่าย หรือ ฝึกให้คนอื่นๆต่อไป

นอกจากไม้ที่ได้นำมาทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว ทางทีมพยายามใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เหลือ ได้แก่ พลาสติกรัดของที่ติดมากับไม้พาเลท นำมาสานเป็นเสื่อ ตะกร้า ชะลอมได้ หรือไม่ว่าจะเป็นตะปู ก็นำไปใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าวต่อไป (ดีจริงๆ แทบจะไม่มีของเหลือใช้เลย)

ส่วนช่องทางการตลาด นอกจากขายตรงที่ศูนย์แล้ว ยังนำสินค้าไปจัดแสดงและจำหน่ายตามงานต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ทาง บ.มิตซุบะ จัดสรรพื้นที่บางส่วนของตลาดนัดที่มีเดือนละ 2 ครั้ง ให้ทางศูนย์ฯ ไปจัดจำหน่ายสินค้าได้
ที่นี่แหละ “ตะเคียนเตี้ย” ฟังแล้วรู้สึกชื่นชมกับการทำงานของพี่พี่ที่นี่มาก หลังจากคุยกันได้พักใหญ่ พี่เล็กชวนไปดูสินค้าต่างๆ ได้คุยกับคุณเสมียน อีกครั้ง

“ได้ข่าวว่าที่โรงเรียนจ้างให้เป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ด้วยเหรอคะ...ดีจังคะ” เราถาม
คุณเสมียนตอบด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเช่นเคยว่า “ครับ ผมมีสอนทุกวัน ช่วงเช้าบ้าง บ่ายบ้าง แล้วที่โรงเรียนวัดเวรุ ก็จ้างให้ทำงานธุรการบางส่วนครับ ได้เงินเดือนประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน ก็เพียงพอครับ เพราะไม่ต้องเสียค่าที่พัก พักที่ศูนย์เลย” และวันนี้ คุณเสมียน ต้องไปส่งไม้กวาดให้เรือนจำพัทยา จำนวน 50 ด้าม ด้วยรถคันที่เห็นในภาพ เยี่ยมไปเลย มีความพยายามสูงส่งจริงๆ
ถาม “ตอนนี้มีคนสั่งไม้กวาดเยอะไหมคะ ขยายตลาดไปถึงไหนแล้วบ้าง”
ตอบ “ตอนนี้ก็พยายามขายอยู่เรื่อยๆครับ ปัจจุบันส่งเทศบาลตะเคียนเตี้ย 100 ด้าม/เดือน เทศบาลบางละมุง 100 ด้าม/เดือน และ บริษัท อิโต้ 100 ด้าม/เดือน เช่นกัน ส่วนเรือนจำพัทยา ก็เป็นลูกค้ารายล่าสุด ส่วนร้านค้าวัสดุก่อสร้างและชาวบ้าน ก็ยังขายให้เรื่อยๆครับ”

ถาม “ดูกิจกรรมภายในศูนย์มีมากมาย แล้วเราเอาเงินลงทุนในการทำงานมาจากไหนคะ”
ตอบ “หลักๆเลยได้มากจาก เงินบริจาคครับ รองลงมาก็เป็นเงินที่ได้จากการขายสินค้า แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ เช่น การเขียนโครงการกับทางเทศบาลตะเคียนเตี้ย และ จัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อพัฒนาคนพิการครับ” ผมขอตัวไปส่งไม้กวาดก่อนนะครับ แล้วคุณเสมียนก็ดันตัวเองจากรถเข็น จับแฮนด์รถ แล้วสตาร์ทรถอย่างคล่องแคล่ว พร้อมขยับขึ้นคล่อมรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง คันเก่งที่บรรทุกไม้กวาดอยู่เต็มคัน มุ่งสู่ “เรือนจำพัทยาต่อไป” (ไกลเหมือนกันนะนี่)

เป้าหมายต่อไปของเราคือ พี่โรจน์นายช่างใหญ่ประจำศูนย์ ภาพที่เห็นทำให้เราถึงกับอึ้งกิมกี่ พี่โรจน์พิการขาทั้งสองข้างเนื่องจากอุบัติเหตุ แต่ใบหน้ายังยิ้มแย้มได้ตลอด สถานที่ทำงาน อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ โล่ง โปร่ง สบาย มีอุปกรณ์วางอยู่รอบกายพร้อมหยิบฉวยได้โดยถนัดมือ เรารู้สึกได้ว่า “ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานใดใดทั้งสิ้น เพียงแต่ทำให้คนผู้นั้นมีความสะดวกน้อยลงเพียงเท่านั้นเอง”

ยกมือไหว้พี่ๆทุกคน แล้วกล่าวคำอำลา แล้วเมื่อมีโอกาส จะผ่านเข้ามาอีกแน่นอน

กลมกลิ้ง

"สู้...คิด...ทำ อย่าง แจ๊ค ผู้เลี้ยงปลา"

ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2554


“ขับรถตรงมาเรื่อยๆ จะมีโลตัสอยู่ทางด้านขวามือ ตรงมาไม่ต้องขึ้นสะพานไปนครชัยศรีนะครับ จากนั้นจะเห็นป้ายสีเบเยอร์ แล้วกลับรถ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอย แล้วค่อยโทรหาผมอีกที...” เจ้าของเสียงทีปลายสาย คอยบอกทางอย่างชัดเจน เป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันการหลงทาง....

เป็นไปดังคาด เราถึงที่หมายโดยไม่หลงทางจริงๆ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังขนาดย่อม แฝงตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ มีกล้วยไม้วางห้อยอยู่อย่างไม่ตั้งใจ เรายืนงงกันสักพัก ก็มีเสียง “เชิญข้างในเลยครับ” ดังออกมาจากมุมหนึ่งของบ้าน แต่เราก็ยังไม่เห็นเจ้าของเสียงนั้น เราลังเลอยู่ว่าจะเดินเข้าไปดีหรือไม่ เพราะเจ้าของบ้านยังไม่ออกมา...แต่แล้วเราก็ถือวิสาสะ เดินเข้าไป ไม่ถึงสิบก้าวจากจุดที่ยืนอยู่ สะดุดเข้ากับเตียงเหล็ก (เหมือนของผู้ป่วยในโรงพยาบาล) และต้นตอของเสียงมาจากที่นี่นะเอง

ยอมรับว่าตกใจนิดหน่อย เพราะไม่คิดว่าจะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ยังนอนอยู่บนเตียง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มากเช่นนี้ เราเดินเข้าไปยกมือไหว้ พร้อมกล่าวคำสวัสดี และแนะนำตัว ที่มาที่ไปเช่นเคย ห้องที่เต็มไปด้วยตู้ปลา และปลานานาสายพันธุ์ ที่เราผู้ซึ่งอยู่นอกวงการปลาสวยงาม แทบไม่รู้จักเลย คุณแม่ ผู้เป็นทั้งแม่และผู้ดูแลพร้อมๆกัน ด้วยอายุที่เข้าสู่วัยเกษียร แต่ต้องดูแลผู้พิการที่อยู่ในบ้านถึงสองคน เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งกำลังแรงกาย และแรงใจ อย่างมาก เห็นร่องรอยความเหนื่อยล้าที่ปรากฏอยู่บนในหน้าแล้วทำได้แค่เพียงแต่ให้กำลังใจ “ไม่เป็นไรหรอก ทำจนไม่รู้จักคำว่าเหนื่อยแล้วว่าเป็นอย่างไรแล้ว” แม่กล่าวทิ้งทายก่อนผละจากห้องนี้ไป

หลังจากถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนาม อายุอานามกันแล้ว ก็อยู่ในวัยเดียวกัน “แจ๊ค” เป็นชื่อคนต้นเรื่องของเราวันนี้ แจ๊ค อายุย่างเข้าวัยทำงาน แต่ทว่า ในชีวิตจริง แจ๊คได้เริ่มทำงาน หาเลี้ยงครอบครัว ที่ซึ่งขาดหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.6 (ปีพ.ศ.2541) การตัดสินใจไม่เรียนต่อหลังจากจบ ม.6 เพื่อมุ่งหวังที่จะดูแลจุนเจือครอบครัว และให้น้องชาย ได้มีโอกาสได้เรียน

อาชีพเลี้ยงปลาสวยงาม เริ่มต้นจากความชอบ พร้อมด้วยทุนอีกประมาณ 80,000 บาทที่รวบรวมได้ในครั้งนั้น ซื้อปลามาเลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้ และมีเจ้าของฟาร์มปลารายใหญ่ มาเช่าบ่อเพาะ “ไรแดง” เพื่อเป็นอาหารปลา การเรียนรู้วิธีการเลี้ยง เพาะพันธุ์ รวมถึงการตลาด อย่างจริงจัง ก็เริ่มต้นขึ้น ณ ตอนนั้นเอง ช่วงแรกเริ่มขายปลาในตลาดปลาสวยงามแถบบ้านโป่ง จ.ราชบุรีก่อน แล้วค่อยๆขยายตลาดไปยังจตุจักร และนำปลาเข้าประกวดทุกปีและได้รางวัลมาตลอด สะสมชื่อเสียงจากการประกวดปลา และด้วยอุปนิสัยที่ชอบช่วยเหลือแก่เพื่อนผู้ร่วมอาชีพ ช่วยเหลือลูกค้าเพื่อให้ได้ปลาที่ต้องการและถูกใจ จึงทำให้ “แจ๊ค” เป็นที่รักใคร่ของคนในวงการปลาสวยงาม

รายได้ที่หมุนเวียนเข้ามาต่อเดือนสูงถึง 35,000 – 40,000 บาทต่อเดือน เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว และมีไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัวบ้าง ด้วยความที่ชอบความเร็ว ชอบการแต่งรถ ถึงขั้นแต่งรถโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ต่างๆ ทำให้มีเพื่อนฝูงไม่น้อยในวงการนี้ และนี่ก็เป็นโอกาสในการขายปลาสวยงามด้วยเช่นกัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีฐานะ เลี้ยงเพื่อประดับบารมี เลี้ยงเพื่อโชคลาภ เป็นต้น

“ผมไม่ใช่คนขายปลา ผมเป็นคนเลี้ยงปลา แต่ปลามันขายตัวมันเอง แล้วมันก็เลี้ยงผม” นี่คือมุมมองในการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามของแจ๊ค “ปลาสวย ปลาไม่สวย กินอาหารเท่ากัน” หลังจากเพาะพันธุ์แล้วเลี้ยงเอง (พ.ศ.2541-พ.ศ.2543) พบว่ามีต้นทุนสูงมากในเรื่องค่าอาหาร และค่าจัดการในส่วนอื่นๆ พ่อค้าปลาสวยงามรายนี้ จึงเริ่มที่จะคัดเลือกปลาที่สวยที่สุดมาเลี้ยง และเพิ่มมูลค่าโดยการส่งปลาเข้าประกวดในเวทีต่างๆ “ปั้นปลา ล่าถ้วย สู่สังเวียน” จนสร้างชื่อได้ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงการปลาสวยงามอยู่ไม่น้อย “ถ้าปลาสวย ก็มีราคา นี่ก็คือปลามันขายตัวมันเอง เราเป็นเพียงแค่คนดูแลเอาใจใส่” ละอีกอย่างหนึ่ง “ผมหาปลาที่ถูกที่สุดให้ไม่ได้ แต่ผมหาปลาที่ดีที่สุดให้ได้”

ประมาณปี พ.ศ. 2550 เริ่มที่จะขยับขยายไปยัง จ.สมุทรปราการ ขนอุปกรณ์ต่างๆได้ไม่ถึงครึ่ง ก็ประสบอุบัติเหตุรถชน ทำให้พิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาชีพเลี้ยงปลาระยะที่หนึ่งนี้ก็ปิดฉากลง เพราะไม่มีใครดูแลปลาต่อได้เลย ไม่ได้ฝึกใครไว้เลย... นอนอยู่โรงพยาบาลเกือบปี ผ่านช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของชีวิตมาได้ จึงเริ่มที่จะเลี้ยงปลาสวยงามอีก ในปี 2551 จึงเริ่มต้นเลี้ยงปลาสวยงามระยะที่สอง ด้วยทุนประมาณ 30,000 บาท แต่ตอนนี้มีทุนอื่นๆ เช่น เพื่อนๆในวงการเลี้ยงปลาสวยงาม ลูกค้ารายเก่าที่เคยติดต่อกันอยู่ ชื่อเสียงที่สะสมมา นี้ก็เป็นทุนที่คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ ด้วยทุนที่มี จึงเริ่มด้วยปลา 6 ตู้ “เลี้ยงปลาที่ตลาดต้องการก่อน แล้วค่อยมาเลี้ยงปลาที่เราชอบ เพราะถ้าเราไม่ชอบปลาที่เราเลี้ยง เราก็จะเลี้ยงแบบไม่มีความสุข” แต่การเลี้ยงปลาครั้งนี้ก็เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิต คิดค้นวิธีใหม่ๆที่จะสามารถทำงานได้ง่าย (ด้วยการสั่ง เพียงอย่างเดียว)

การหาผู้ช่วยที่รู้ใจหายากมาก แม่ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง ก็ทำได้แต่เพียงให้อาหารปลา แต่การเลี้ยงปลา ไม่ได้มีการจัดการเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก เช่น การทำความสะอาดตู้ปลา การย้ายปลา ซึ่งย่อมต่างกันในรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด นี่ยังไม่รวมถึงการจัดการเรื่องการตลาด การหาปลาตัวใหม่เข้ามา ล้วนต้องใช้ทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา แต่การแก้โจทย์นี้ก็เริ่มมีความหวัง เมื่อมีน้อง (จ่าอากาศตรีจิรวัฒน์ เอมเจริญ) ที่ไว้ใจได้ เป็นมือเป็นไม้แทนได้ทุกอย่าง หัวเร็ว เรียนรู้เร็ว ทำให้แจ๊คมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง และตั้งใจจะปั้นน้องคนนี้ให้สามารถยึดอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามเลี้ยงตัวเค้าเองต่อไป แต่แจ๊คก็ใจชื้นได้ไม่นาน เมื่อน้องคนดังกล่าว ได้เสียชีวิตลงเมื่อไม่นานมานี้

โจทย์ใหญ่ในชีวิตก็กลับให้ต้องมาหาทางออกอีกครั้ง แต่แจ๊คก็หวังว่า อีกไม่นานก็คงจะหาทางออกได้เช่นเคย ณ ตอนนี้ เพื่อน คือผู้ให้กำลังใจ และผู้ให้ความช่วยเหลือหลัก การดูแลจัดการ ก็อาศัยจ้างเด็กแถวบ้านมาทำบ้างเป็นครั้งคราว

เมื่อปลายปี 2553 ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรม SME กับทาง สสพ. เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้นำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับอาชีพเลี้ยงปลาสวยงาม ๒ ประเด็นหลักคือ
๑. การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยการสร้างเรื่องราวให้กับปลาที่เราเลี้ยง เช่น พ่อแม่มันเป็นแชมป์เมื่อไหร่ ลักษณะเด่น ด้อย เป็นอย่างไรบ้าง เลี้ยงแล้วจะดีอย่างไรกับผู้เลี้ยงบ้าง นิสัยส่วนตัวของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น
๒. การคิดต้นทุนของสินค้า แต่เดิม ไม่เคยคำนึงถึงต้นทุนแฝงเลย เช่น ซื้อปลามา ๕,๐๐๐ บาท พอได้ราคา ๕,๕๐๐๐ บาทก็ขายแล้ว แต่เมื่อมาคำนวณถึงต้นทุนแฝง เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าตู้ปลา ค่าแรงในการดูแลปลา ค่าเคลื่อนย้ายปลา เป็นต้น เรียกได้ว่า ขาดทุนเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็คิดใหม่ ทำให้สามารถขายปลาในราคาที่ไม่ขาดทุน แถมได้กำไรอีกด้วย

อนาคต อยากต่อยอดจากการค้าปลาสวยงาม สู่ตลาดสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น การเพาะนกพันธุ์หายาก เป็นต้น รวมถึงการเลี้ยงกล้วยไม้ขายเพราะเป็นสิ่งที่ชอบเช่นกัน ต่อจากนี้ก็ต้อง “สู้(ต่อไป) คิด(ให้มากขึ้น) แล้วทำ(ในสิ่งที่ชอบ)” จากจุดที่แย่ที่สุดในชีวิต และเริ่มที่จะก้าว ยอมรับว่า “ก้าวแรกเป็นก้าวที่ยากมาก และพอก้าวไปเรื่อยๆก็จะเริ่มเจอทางแยกที่มากขึ้น มากขึ้น การตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด นั่นขึ้นอยู่กับว่า ใจเราชอบที่จะไปทางใด”


การพูดคุยกันท่ามกลางเสียงออกซิเจนจากตู้ปลา และปลาสวยงามที่ว่ายไปมา จบลงอย่างรวดเร็ว แววตาของแจ๊คระหว่างที่เล่าเรื่องราวเรื่องปลา ฉายแววของความหวัง ความมุ่งมั่น และความตั้งใจ รวมถึงความภาคภูมิใจ สัมผัสได้จากน้ำเสียงที่ดังฟังชัด ในใบหน้าที่อิ่มสุขเมื่อได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีในชีวิต ทำให้เราประทับใจ และหวังว่าเราจะเจอกันอีกครั้งในไม่ช้านี้












กลมกลิ้ง จริงๆ

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วานนีี้..ที่ดินสอพอง

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 28-29 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา ไปตามหาผู้ร่วมอุดมการณ์ ดินสอพอง ที่ลพบุรีมาคะ ครึ่งปีที่ผ่านมา การเดินทางของดินสอพองมาได้ไกลเกินคาด แววตาที่เปลี่ยนไปของทีม ซึ่งมีอ.ดวง ทองคำซุ่ย เป็นแม่ทัพใหญ่ มีลูกเรืออีก 3 ท่านคือ พี่บาล เอก และน้องผึ้ง ทุกคนดูมีความหวัง มีความกระตือรือร้น และสายตาที่เปร่งประกาย ทำให้ดิฉันสัมผัสได้กับความรู้สึกนั้น


จากเวทีดังกล่าว ทีมวิจัยได้คืนข้อมูลบางส่วนให้ชุมชน เราได้กลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาร่วมรับรู้ รับฟัง ประเด็นต่างๆ และได้พบกับผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ประสานงานภาคประชาชนให้เข้าร่วมเวทีวันนี้ พูดด้วยน้ำเสียงที่มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง กับการรวมกลุ่มคนทำดินสอพองในชุมชน


ผลจากการชวนคุย ชวนคิด ของกระบวนกร นามว่า "อ. ประเชิญ คนเทศ" แห่งลุ่มน้ำท่าจีน ได้จุดประกายเล็กๆขึ้นในพื้นที่ สะกิดความหวังที่ฝังลึก และทับถมด้วยบทเรียนความล้มเหลวของการรวมกลุ่มที่ผ่านมา
เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นอีกครั้งด้วยกลุ่มคนที่อยู่จนนาทีสุดท้าย และคนเหล่านี้แหละ จะเป็นแนวร่วมภาคประชาชนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพองต่อไป

แอบเป็นกำลังใจทีมนักวิจัยในพื้นที่ ก้าวต่อไป เพราะนี่คือโอกาส การทำงานรับใช้แผ่นดินเกิด เมืองนารายณ์ ดังใจหวัง

จาก ตัวกลม

ติดอาวุธทางปัญญา กับ IL นนท์

เค้าว่ากันว่า "โอกาส มีอยู่รอบตัว มีมากพอกับอากาศที่ใช้หายใจ เพียงแค่เรามองเห็นและไขว่ขว้าหรือไม่เท่านั้นเอง" และวันนี้ วันที่ 26 พ.ค. 54 โอกาส ก็มาถึงอีกครั้ง โอกาสที่จะได้เรียนรู้ และติดอาวุธทางปัญญา น่าเสียดาย ที่ไม่สามารถคว้าโอกาสได้เต็มที่ เพราะเวทีนี้ มีถึง 3 วัน คือ 26-28 พ.ค. เป็นการเสริมสร้างศักยภาพแกนนำผู้พิการในการทำงานในพื้นที่ โดย วิทยากรที่มีชั่วโมงบินสูงลิบลิ่วอย่าง รศ.โอภาส ปัญญา



เค้าว่ากันว่า "โลกกลม" ทางวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่ากลม แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนเกือบ 62 ล้านคน ในประเทศ มีคนกลุ่มหนึ่งที่วนเวียนอยู่รอบตัวเรา และวันนี้ เราก็เจอที่ปรึกษาของพี่สาวที่น่ารักเข้าจนได้



เค้าว่ากันว่า "เมื่อไหร่ที่น้ำเรายังไม่เต็มแก้ว เราก็มักจะได้รับการเติมเต็มสิ่งดีดีอยู่เสมอ" วันนี้ นอกจากจะได้รู้จักกับกระบวนกรชื่อดัง พร้อมได้ความรู้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังได้ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมวิถีทางการดำรงชีพอิสระจากพื้นที่ ปลายบาง ไทรม้า บางเลน ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นแกนนำผู้พิการในพื้นที่ ที่มีพลังใจอย่างเข้มแข็งในการทำงานเพื่อสังคม



เค้าว่ากันว่า "สุขไหนจะเท่า สุขเท่าการได้ให้" เพราะแววตาของทีมผู้จัด ทั้งคุณธียุทธ์ พี่ต่าย อ.ภพ ลุงเป๋ พี่ป้อม พี่แหม่ม ฯลฯ ฉายแววของความหวัง แววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่อยากจะเห็นเพื่อน มีชีวิตที่ดีกว่า "น่าทึ่ง" กับการจัดงานของกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่า "ผู้พิการ" แต่เชื่อหรือไม่ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดทางกายนั้น ไม่ได้มีอุปสรรคแม้แต่น้อย เพราะผู้พิการเหล่านี้ ใช้กำลังใจที่เข้มแข็ง และความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ทลายกำแพงของปัญหาหรืออุปสรรค จนคนธรรมดา ธรรมดา เช่นเรา มองข้ามปัญหาอุปสรรคเหล่านั้น สัมผัสได้แต่เพียง พลังแห่งการเรียนรู้เท่านั้น



ขอบคุณ สำหรับกำลังใจ ที่มีให้ทุกครั้งที่ได้สัมผัสและพูดคุย เพราะทุกครั้งที่คิดว่าเหนื่อยหรือท้อ ภาพของเหล่ามิตรบูรณาการ เหล่านี้ จะฉายเข้ามาในจิตสำนึกและทำให้มีพลังในการทำงานทุกครังไป


จาก ตัวกลม

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ออกตามหาความสุขกัน...

เมื่อไม่นานมานี้ มีหนังสือดีดีมาวางไว้ที่ office อีกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นเคย ไม่ยอดพลาดเลยที่จะเปิดอ่าน....
ด้วยชื่อหนังสือ และผู้แต่ง ที่ทำให้ต้องรีบหยิบมาอ่าน และก็อ่าน อ่าน อ่าน ก็มันน่าอ่านจนวางมันไม่ลง



" ความสุขโดยสังเกต" เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ แต่งโดย นิ้วกลม จากสำนักพิมพ์ มติชน
เมื่อได้อ่าน อ่าน อ่าน จนจบ ทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่า...แล้วเรามีความสุขหรือยัง



เชื่อว่า หลายคนเคยมีความสุข และสัมผัส รับรู้ ถึงความรู้สึกที่เรียกว่า "ความสุข" กันบ้าง (หากใครไม่เคยคงน่าสงสารแย่เลย) แล้วเคยลองที่จะสังเกตความสุขบ้างไหม?

ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้

"หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานล่าสุดของผู้ชายที่มองโลกในแงดี และเล่มนี้เขาได้หัดสังเกตุุความสุขที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขาไม่ว่าจะเป็นตัวของเขาเองหรือผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง การสังเกตในเรื่องต่างๆของ นิ้วกลม มีเหตุการณ์ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีในเล่มนี้ เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คนแรกที่เราจะโทรหาคือใคร และหลังจากจบเหตุการณ์แย่ๆ ในวันนั้นเราสัมผัสได้ถึงความสุข โดยมีความทุกข์(ตอนรถชน) มาบดบังเอาไว้ โดยแท้จริงแล้วความสุขอยู่รอบๆ ตัวเรานี่แหละ มันไม่ได้เดินหนีไปไหนไกลเลย เพียงแต่เราจะลองหันมาสังเกตมันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ลองเปิดตาเพื่อสังเกต เปิดใจให้กว้างและมองในสิ่งที่คิดว่าไม่เคยคิดจะมองมัน แม้กระทั่งปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็ตาม เชื่อว่าทุกอย่างมีความสุขอยู่ทั้งนั้น เพียงแต่เราจะเดินไปทำความรู้จักกับความสุขหรือเปล่า เท่านั้นเอง"

แล้วเรา...จะเริ่มหัดสังเกตุความสุขกันมากขึ้น รับรอง
แล้วเรา...จะสัมผัสกับความสุขได้มากขึ้น รับรอง
แล้วเรา...จะแบ่งปันความสุขได้มากขึ้น รับรอง
แล้วเรา...จะมีความสุขทวีคูณขึ้น รับรอง

โดย
ตัวกลม (ไม่ได้กลมเฉพาะนิ้ว กลมทั้งตัว อิอิ)

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เวลาแห่งมิตรภาพ...มักเดินถอยหลังเสมอ



"๑๐ ปี แห่งความหลัง"
ก็เกือบสิบปีแล้วสินะ ที่พวกเราได้รู้จักกันมา แม้ว่าวันนี้จะมีเวลาได้ถามไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกันน้อยกว่า ๑ วัน แต่เพียงเท่านี้ เราก็รู้สึกดีที่วันนี้ยังมีกันและกัน
รถคันโต นำพามิตรที่แสนดีมาเยือนถึงบ้าน รอยยิ้มที่คุ้นเคย ไม่เปลี่ยนไปเลยจริงๆ เราพูดคุยกันจ๊อกแจ๊กๆ ถึงเรื่องความเป็นไปของแต่ละคน โดยมีเด็กตัวน้อยๆ คอยส่งเสียงแจมอยู่เป็นระยะ ส่วนน้องโกจิน คงแอบฟังอยู่เป็นแน่แท้ มื้อนี้ ไปไม่ไกลจากบ้าน เป้าหมายหลักคือร้านอาหาร "มันเซ โคเรีย ๑๐๐๐ แท้" แถวคลองสาม บ่ายโมงแล้ว แต่ละคนจึงทานอาหารมื้อนี้ด้วยความเอร็ดอร่อย ฐานะเจ้าถิ่น เอ่ยปากรับคำว่าจะหาสถานที่ชิวๆ นั่งคุยกันแบบเชยๆ จึงยินดีนำเสนอ "A Cup of Tree" ร้านกาแฟชื่อดี้ดี พอไปถึงที่ ก็ไม่ทำให้ผองเพื่อนผิดหวัง ด้วยเพราะเครื่องดื่มที่หอมกรุ่น พร้อมสนนราคาที่ไม่แพง กับเค้กโฮมเมดที่น่ารับประทานอย่างยิ่ง ทำให้พวกเรานั่งคุยกันนานเกินกว่าที่คาดไว้

เพื่อนดาว เพื่อนเจี๊ยบ เพื่อนเจ ฯลฯ ได้เป็นบทสนทนาแรกๆ ที่เราคุยกัน ได้ update เรื่องราวความเป็นไปของกันและกัน...
วันนี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกก้าวของเพื่อนเจี๊ยบ ที่จะไปจากสังคมเมือง ก้าวสู่สังคมที่คุ้นชิน คือกลับบ้าน พร้อมที่จะเป็นคุณแม่ลูก๑ ลูก๒ ลูก๓ กว่าจะครบ คงกินเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ชีวิตที่จังหวัดตากบ้านเกิด คงดีไม่น้อยสำหรับคุณแม่มือใหม่ และลูกน้อย "โกจิน" และวันหนึ่ง เราหวังว่า จะไปเยื่อนเพื่อนคนดีถึงถิ่นเลยทีเดียว สำหรับเราแล้ว เจี๊ยบ คือเพื่อนที่รู้จักกันมานานกว่า ๑๒ ปี นับตั้งแต่ ม.๖ ที่เราได้เจอกันที่เชียงใหม่ และเราก็โคจรมาเจอกัน ณ หอพักหญิง KMIT'L อีกครั้ง ...
แจ๋วแหว๋ว เป็นเพื่อนที่น่ารัก และความน่ารักกลับเพิ่มขึ้นทุกวัน ความรัก ความห่วงใย หาได้ไม่ยากจากเพื่อนคนนี้ และวันนี้วันที่ได้เจอกันอีกครั้ง ก็ยังเป็นเช่นเคยไม่เปลี่ยนไปเลย...
การพบเจอกันครั้งนี้ รู้สึกได้ถึงหัวใจที่อิ่มเอม และพองโตเต็มที่ ภาาพวันเก่าๆ วนเวียนไปมาในช่วงเวลาพูดคุยกัน ให้ความรู้สึกที่ดีอย่างบอกไม่ถูก
วันนี้ เขียนไม่ค่อยออก สิ่งที่อยากทำ คือ "อยากกอดกันแน่นๆอีกครั้ง"
เวลาแห่งมิตรภาพ...มักเดินถอยหลังเสมอ เพราะเรามักมีความทรงจำดีดี ให้นึกถึงทุกทีที่เจอกัน


ขอบคุณที่เรายังเป็นเพื่อนกัน
ตัวกลม

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๘ "โรงเรียนน้องใยไหม"


ถึงลูกรัก อย่าแปลกใจ ที่แม่ตั้งชื่อบทความนี้ว่า "โรงเรียนน้องใยไหม" ยังคะ ลูกยังไม่ได้ห่างอกพ่อ แม่ ตา ยาย ไปไหนหรอกคะ พวกเรายังคอยดูแลลูกอยู่ แต่ ณ วันนี้ วันที่ลูกอายุได้ ๑ปีกับ๑๐ เดือน ลูกได้ออกสำรวจโลกใบเล็กๆ มากกว่าในบ้าน มากกว่าที่ที่ลูกคุ้นชิน ลูกเริ่มกล้าที่จะออกจากพื้นที่ save zone (พื้นที่ปลอดภัย) แล้ว แม่ดีใจที่ลูกเป็นเช่นนั้น เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่ลูกจะขยายพื้นที่ save zone ของลูกออกไปเรื่อยๆ ก็โลกใบนี้ มันใหญ่กว่าที่ลูกคิดไว้มาก
แม่ อยากมีส่วนร่วมในการขยายพื้นที่ save zone ให้ลูก โดยพาลูกออกจากพื้นที่ที่ลูกคุ้นชิน ให้บ่อยครั้งขึ้น ให้ไปเจอพื้นที่ใหม่ๆ ที่ลูกไม่เคยไป เช่น ไปประชุมกับกลุ่มผู้พิการ ทุ่งนาหลังหมู่บ้านเรา บ้านของเพื่อนบ้านที่แสนดีของเรา มุมที่มืดและลับที่สุดของบ้าน ในกรงของถุงเงินถุงทอง เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ลูกได้สะท้อนผ่านพฤติกรรมหลายๆอย่าง ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
๑. เดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา แม่พาลูกไปประชุมด้วย แม่มีประชุมกับทีมผู้พิการ แม่มีประเด็นแฝงเช่นทุกครั้ง คือ แม่อยากให้คุณตาได้ไปเห็นผู้พิการที่เค้าพิการรุนแรง และออกมาทำงานเพื่อสังคมกัน และนั่นจะเป็นกำลังใจให้คุณตาดูแลรักษาตัวเอง และมีความหวังที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้คะ ส่วนลูก แม่เพียงไม่อยากให้ลูกกลัวเหล่าเพื่อนผู้พิการเหล่านี้ เพราะเค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เช่นกัน ผลที่ได้ เกินคาดคะ นอกจากลูกไม่กลัวแล้ว ลูกยังเข้าไปยืนมองอย่างสงสัย
ลูกประทับใจป้าต่าย ตั้งแต่แรก เพราะป้าต่ายหยิบขนมเค้กกล้วยหอมที่แสนอร่อยให้ลูก และแล้ว ลูกก็นั่งกินอยู่ข้างรถเข็นป้าต่าย ไม่ลุกไปไหนเลย พอขนมหมด ลูกถามว่า "ขยะอยู่ไหนแม่" แล้วลูกก็เอากระดาษที่ห่อขนมไปทิ้ง น่ารักมากคะ และแล้วลูกก็เริ่มสงสัย ว่าทำไมป้าต่ายถึงนั่งบนรถ
"นี่อะไร" ลูกถาม
"รถเข็นคะ" ป้าต่ายตอบ
และก็สอดส่ายสายตาไปรอบๆห้อง ลูกพบว่า คนส่วนใหญ่ในห้องนี้ไม่ได้นั่งเก้าอี้ แต่กลับมีรถส่วนตัวมาด้วย (wheelchair) แล้วลูกก็หันมาหาป้าต่าย แล้วบอกว่า "ป้าต่ายซิ่ง" แม่อมยิ้ม ส่วนป้าต่ายยิ้มปากกว้างเลย เพราะแม่ไม่อาจคาดเดาว่า "ลูกจะคิดว่า สิ่งที่เห็นนั้นมันคืออะไรกัน" แต่ที่สำคัญ ที่วันนี้แม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คือ ลูกไม่กลัวคนพิการ และเมื่อไหร่ที่ลูกเจอคนพิการ ลูกพึงตระหนักไว้เสมอว่า เค้าคือเพื่อน และคือคนเหมือนกับเรา ลูกอย่าได้รังเกียจผู้พิการเป็นอันขาดนะคะลูก
ช่วงเย็นๆ แม่พาลูกไปบ้าน "ต้นคิดทิพย์ธรรม" บ้านนี้ลูกคุ้นชินอยู่ไม่น้อย เพราะไปไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง นับตั้งแต่ลูกเกิดมา วันนี้ลูกได้เรียนรู้วิธีตกปลา ซึ่งลูกเคยเห็นแล้วครั้นตอนที่แม่พาลูกไปทุ่งนาหลังหมู่บ้าน แต่วันนี้ แม่ตกปลาตัวใหญ่(กว่าปลาซิว)ให้ลูกดู (ปลาทับทิม) แต่แล้ว ก็ปล่อยมันไป (กินไม่ลง สงสารมันคะ) แม่อ้างว่า มันยังเล็กอยู่ ยังกินไม่ได้ พอกลับมาที่บ้านเท่านั้นแหละ ลูกเหลือบตามองผ่านตู้กระจก เห็น"หัวโต" (ปลาหมอสี) ตัวบิ๊กเบิ่ม ลูกบอกแม่ว่า "ตัวนี้กินได้แม่ ตัวโตแล้ว" อ้าว ซะงั้น ต้องอธิบายอีกยกใหญ่ ว่า "พี่หัวโต" กินไม่ได้เพราะอะไร

๒. ห้องเรียนธรรมชาติของลูกอีกแห่ง ที่แม่พาลูกไปบ่อยๆ อยู่ไม่ไกลคะ หลังหมูบ้านเรานี่เอง มันเป็นที่ที่ลูกดูจะไม่สนใจนัก ในความคิดของแม่ เพราะเวลาลูกไป ลูกดูจะหงุดหงิด เพราะมันร้อนมาก มีแต่ทุ่งนาสีเขียว กับยอหนึ่งหลัง ที่แม่หอบไปเพื่อตกปลาซิวและกุ้งฝอยกลับมาทอดให้ลูก ครั้งแรก หนักสุด ลูกหลับอยู่ในรถเลย ครั้งที่สอง ลูกก็ออกมาวิ่งเล่นตามคันคลอง พอเหนื่อยและร้อนก็บอก "แม่อุ้มนาาาา" แล้วเราก็ต้องกลับ ครั้งล่าสุดที่ไป ลูกวิ่งเล่น เก็บดอกหญ้า เก็บผักบุ้ง ถามว่า "นั้นอะไร นี่อะไร" กับสิ่งที่ลูกเห็น
แล้วนี่ก็ทำให้แม่เบาใจ ว่า อย่างน้อยลูกก็เริ่มคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ และก็ทนกับอากาสร้อนได้มากขึ้น เพราะทุกครั้งที่ลูกกลับบ้าน ลูกก็ยังสบายดี ไม่ป่วยเลย (แล้วแม่จะพาไปอีกนะคะลูก)

๓. เราโชคดีมากที่มีเพื่อนบ้านที่แสนดี บ้านลุงเผือก-ป้าไหม ข้างบ้านรั้วติดกันเลย กลายเป็นพื้นที่ save zone ของลูกตั้งแต่เมื่อไหร่ แม่ก็ยังไม่รู้ตัวเลย พอได้สติ ลูกก็คุ้นชินกับบ้านนี้แล้ว เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองเลยคะ ถัดมาเป็นบ้านคุณย่าแถม ปู่ยก บ้านนี้ลูกอยู่ได้ไม่นานนัก ถ้าไม่มีพี่ไนท์ คู่หูของลูก ถัดมาก็เป็นบ้านคุณย่าสินะคะ ไปไม่เกินยี่สิบนาที ก็จะกลับบ้านแล้ว ส่วนบ้านหลังอื่นๆ ก็เข้าบ้างเป็นบางครั้ง แต่ต้องมีแม่ไปด้วยทุกครั้ง
บ้านแต่ละหลัง มีความแตกต่างกันไป จึงเหมาะที่จะเป็นแบบฝึกหัดในการทำความ "เคยชิน" ให้กลายเป็นความ "คุ้นชิน" ของลูกคะ

๔. มุมที่มืดและลับที่สุดของบ้านมุมหนึ่ง ที่ลูกยังไม่เคยไปเยือนเลย แม่อยากให้ลูกคุนชินกับความมืด และแคบ จึงหามุมหนึ่งของบ้านที่แม้กระทั่งแม่เองก็ยังไม่เคยเข้าไป (เข้าไม่ได้) แต่แล้วก็กลับกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับลูก และคงดีใจที่เจอที่ซ่อนแอบแห่งใหม่ ที่น้อยคนนักจะหาเจอ (กลายเป็นงั้นไป) สงสัยต้องรอให้โตกว่านี้หน่อย ถึงจะเข้าใจ หรือไม่ก็หาที่ใหม่ ที่ไม่ใช่บ้านเพราะลูกอาจจะไม่กลัวเพราะเป็นบ้านของเราอยู่แล้ว

๕. ในวันที่แดดจัด วันหนึ่ง แม่ล้างกรงให้ถุงเงิน-ถุงทอง พอกรงแห้งแล้ว แม่ก็พาลูกเข้าไปนั่งเล่นและลองปิดกรงดู เป็นไปตามคาด ลูกร้องด้วยเสียงที่เป็นกังวล และไม่เข้าใจว่าแม่ทำอะไร สักพักแม่เปิดกรงออกมาแล้วบอกลูกว่า "นี่เป็นบ้านของถุงเงิน-ถุงทอง และมันต้องนอนอยู่ที่นี่ทุกคืน พอตอนเช้า มันจะร้องให้คนมาเปิดให้ ลูกก็คงเข้าใจแล้วนะคะว่า ทำไมมันถึงต้องร้องโวยวายให้คนมาเปิดให้ เพราะมันอยากออกไปอยู่ที่กว้างๆ เร็วๆ เหมือนลูกที่ร้องให้แม่เปิด ดังนั้น ลูกจงอย่าหงุดหงิด หรือเสียอารมณ์ และลงโทษมันนะคะ ลูกจงเข้าใจในสิ่งที่มันทำ จงเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ถึงแม้มันจะเป็นหมาก็ตาม แล้วลูกก็จะเข้าใจ"


บางครั้ง แม่ยอมให้ลูกเดินเท้าปล่าวบ้าง และช่วงหลัง ก็บ่อยขึ้น แม่รู้ว่ามันเสี่ยงกับการที่ลูกจะได้แผล เป็นดังคาดคะ วันนี้อุ้งเท้าลูกบวม เหมือนมีอะไรดำๆ ตำเท้าอยู่ เพราะเท้าลูกยังบางอยู่ ทำให้ถูกตำได้ง่าย แต่นั่นแหละ มันก็คือการเรียนรู้อีกเช่นกันนะคะลูก ความรู้สึกที่ใส่รองเท้าเดิน กับการเดินเท้าปล่าวนั้นต่างกันโดยสังเกต (ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้ซึ้งถึงความต่างนี้) แม่ก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบถอดรองเท้าเดินบนผิวสัมผัสที่ต่างออกไปเช่น สนามหญ้า หาดทราย ก้อนกรวด ดิน เป็นต้น ส่วนเรื่องแผลก็เป็นบทเรียนที่ดีให้ลูกได้ว่า ถ้าไม่ใส่รองเท้าเดินในหินที่แตก คม จะเป็นเช่นนี้เอง แต่ดีหน่อยที่ลูกแม่ไม่งอแงเลยคะ

ทุกที่ที่แม่พาไป คือโรงเรียนห้องใหญ่ ที่ไม่มีรั้วกั้น และมิอาจกั้นจินตนาการของลูกได้ จงเรียนรู้กับมันอย่างมีความสุขนะคะลูกรัก

จากคุณแม่ตัวกลม


วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ช่วยด้วย "ใครเอาเนยแข็งของฉันไป"

ในวันทำงานวันหนึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน หนังสือเล่มนี้เค้าการันตีด้วย bestseller ตัวอักษะสีขาวพื้นแดง หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า "ใครเอาเนยแข็งของฉันไป (Who Moved My Cheese?)" และเค้าก็บอกว่า "ขายได้กว่า 10 ล้านเล่ม" โอ้ว ต้องอ่านซะหน่อยแล้ว และแล้วด้วยเวลาไม่ถึงชั่วโมง ก็อ่านรอบแรกจบด้วยความงงงงงง แต่ ด้วยความงงนี่แหละ ต้องหยิบไปอ่านต่อด้วยความตั้งใจอีกครั้ง

เมื่ออ่านจบแล้ว ต้องบอกต่อกันเลยทีเดียว เพราะเป็นหนังสือที่ดีมากมาย เบ้อเร่อเฮ่อ ...
ต้องขอขอบพระคุณ... อาจารย์เดชรัต ที่นำพาหนังสือดีดีมาวางไว้ที่ทำงานและทำให้ได้หยิบมาอ่าน...
ต้องขอบพระคุณคนเขียน ... นพ. สเปนเซอร์ จอห์นสัน
และที่สำคัญต้องขอบพระคุณคนแปล ...ดร.สืบศักดิ์ ศิริจรรยา ที่ทำให้เราอ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น

หลังจากที่อ่านแล้ว ...ก็หันมาสำรวจตัวเองว่า เอ๊ะแล้วเราเป็นเหมือนใครในเรื่อง
ตัวเองบอกกับตัวเองว่า ...เราเหมือนเจ้าหนู "สนิฟฟ์"
เพราะว่าเรา ...ไม่เคยทุกข์ร้อนใดในทุกความเปลื่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เราพยายามปล่อยวาง ...เมื่อความเปลื่ยนแปลงนำมาซึ่งความสูญเสีย
เรายิ้มระรื่นได้ทุกครั้ง ...เมื่อความเปลื่ยนแปลงนำมาซึ่งความสุขสมหวัง

แต่อีกตัวตนหนึ่งภายในร่างเดียวกันก็แย้งว่า ...ไม่จริงหรอก ลองย้อนเวลาไปสิ
ลองคิดถึงตอนที่...พ่อเจออุบัติเหตุคาดว่าจะเป็นอัมพาตมันเป็นอย่างไร
ลองคิดถึงตอนที่...จะออกจากบ้านมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยมันเป็นอย่างไร(ร้องไห้อยู่ได้วี่ทุกวัน)
ลองคิดถึงตอนที่...เลิกทำงานแล้วเลือกที่จะเรียนต่อโทนั้นคิดหนักขนาดไหน
ก็นั่นสินะ...ก็เป็นเพราะเราไม่ยอมรับความเปลื่ยนแปลงใช่หรือไม่

และแล้ว ก็ตั้งสติถามใจตัวเองดูอีกที ...เลยปิ้งแว๊ปได้ไม่ยากเลยว่า เราก็เคยเป็นเหมือนทั้ง สนิฟฟ์ สเคอร์รี่ เฮม และ ฮอร์ นั่นแหละ
ก็ในบางเวลา ...เราก็ดันรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย
เช่นว่า เราไม่เคยจะเป็นจะตายเลยเมื่อตอนเป็นสิว...ก็ยังเอาหน้าเยินๆ ด้วยสิวเม็ดโตๆ ออกไปโชว์ได้ทุกที่ อย่าได้แคร์
และในตอนนี้...ก็ไม่ได้จะเป็นจะตายเลยเมื่ออ้วนจนเกือบจะกลิ้งได้อยู่แล้ว
หรือแม้ว่า...คุณพ่อของน้องใยไหมจะอ้วนดำ...ก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ...และยังรักและห่วงใยแถมยังสุขใจอยู่ได้เสมอ

ในบางเวลา ...เราก็เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงซะดิบดี
ก็จะไม่ดีได้ไง...เค้าบอกว่าโลกอาจจะเจอภัยพิบัติ...ก็ไปตุนของแห้ง ยารักษาโรค กระเป๋าชูชีพไว้ซะ...สองปีผ่านไปยังไม่มีโอกาสใช้เลย (บางอย่างก็ดันหมดอายุไปซะงั้ย หุหุ)

ในบางเวลา ...ก็ดันจมปลักกับงานและก็มึนกับมันจนเครียดไปเป็นเดือนๆ
ยังจำได้ดี...นานโขอยู่ที่จะทำใจทำงานนั้นต่อไปได้...ด้วยความสนุก


ถึงอย่างไรแล้ว...เมื่ออ่านหนังสือแล้วสะท้อนดูตัวเอง...ก็รู้สึกว่า...ยังดีนะ...สุดท้ายแล้ว เราก็ยังเรียนรู้และยอมรับมันได้ในที่สุด
นั้นคือ เราได้เรียนรู้วิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในการงานและในชีวิต

อยากให้ครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย ได้อ่านและลองคิดดูว่า เราเหมือนตัวละครตัวไหนกัน
แล้วอย่าลืม เขียนมาเล่าให้กันฟังบ้างนะคะ

.................................................
ด้วยความปรารถนาดีจาก

กลมกลิ้งตัวแม่

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

NPI Thailand ChapterI

"เริ่มแล้วคะ เค้าเริ่มทำกันแล้วคะ" ก้าวแรกของงาน NPI (National Progress Index)

ช่วงหนึ่งของชีวิต ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน "แผนงานขับเคลื่อนสังคมด้วยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง" ได้เปิดหู เปิดตา ฝ่าเข้าไปในสมองซีกขวา แล้วจินตนาการออกมาเป็นภาพของเมืองไทย ที่เวลาใครจะทำอะไรหรือตัดสินใจอะไรสักอย่าง เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน ก่อนที่จะวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งตรงเผงกับเป้าหมายของการทำงาน NPI เลยคะ ในวงของการพูดคุยกันเรื่อง NPI นั้น มีเป้าหมายในช่วงแรกเริ่มของโครงการ"ไม่มาก ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ ก็สบายมาก" คือ

"การสร้างวัฒนธรรมการวางแผน และการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่สะท้อนภาพของการพัฒนาในมิติต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้การวางแผนและการตัดสินใจเป็นไปโดย การใช้เหตุผลอย่างรอบครอบ เพื่อสร้างสมดุลของการพัฒนา และสร้างภูมิคุ้มกันในการพัฒนา)"
โดยงานนี้ เค้ามีโค๊ดไม่ลับ ในการสร้างรหัสทางวัฒนธรรมในการทำงาน ที่น่าสนใจมาก
ก่อนที่เราจะ โอเค เราคงเคยมีความรู้สึกแบบว่า "เอ๊ะ(นี่มันเรื่องอะไร) อ๋อ(เรื่องมันเป็นอย่างนี้นี่เอง) อืมม์(คนอื่นก็มีมุมมองที่น่าสนใจเหมือนกันนะ ก็โอ(เค)นะ" อะไรประมาณนี้หรือเปล่า

นี่แหละคือ "รหัสทางวัฒนธรรมในการทำงาน"
เอ๊ะ : สนใจและสงสัยในข้อมูลที่สะท้อนภาพการพัฒนา
อ๋อ : ค้นหาสาเหตุและทางออก
อืมม์ : รับฟังมุมมองอื่นอย่างตั้งใจ
โอ(เค) : พร้อมตกลงใจร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง

โครงการนี้ได้ได้เริ่มออกสตาร์ทอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมี

“การลงนามภาคีความร่วมมือ แผนงาน ขับเคลื่อนสังคมด้วยดัชนีความก้าวหน้าของชาติ (National Progress Index)”
งานแถลงข่าวเปิดตัวแผนงานขับเคลื่อนสังคมดัวยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง
พฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2554 เวลา 9.30 – 12.00 น.
ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
 หรือ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ (สวนรถไฟ)



โดยมี นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนายการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
นางดวงกมล อิศรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนทางสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งชาติไทย
และทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. เป็นตัวแทนในการลงนามครั้งนี้
และได้พูดคุยในเรื่องของนิยามมุมมองความก้าวของสังคมไทย ดังนี้



นพ.อภิชัย มงคล
“ในสังคมที่มีความเชื่อมโยงเป็นสายสัมพันธ์ซึ่งกัน เราจะต้องมองมิติความก้าวหน้าที่มากกว่าเรื่องเรื่องเศรษฐกิจ หรือตัวเงิน เพียงอย่างเดียว ในขณะนี้ข้อมูลมีอยู่แล้วในทุกๆภาคส่วน อยู่ที่ว่าเราจะนำข้อมูลมาสะท้อนความยั่งยืนของประเทศไทยให้ไปในทิศทางไหน ในการร่วมขับเคลื่อนในครั้งนี้ สำนักงานสถิติฯจะ ได้มีโอกาสนำข้อมูลมาร่วมบูรณาการกับภาคส่วนวิชากร ต่างๆ จากหลายๆภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐเอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อที่ข้อมูลตรงนี้จะได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ วางแผนประเทศภาคส่วนต่างๆต่อไป”




นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์
“หลายท่านคงแปลกใจถึงที่มาที่ไปของการมาร่วมของ กรมสุขภาพจิตในครั้งนี้ จะพบว่าผลจากการสำรวจที่จะได้นำเสนอต่อไปในวันนี้ ถามว่าประชาชนให้ความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อชีวิตของพวกเขาในเรื่องอะไรบ้าง ผลจากการสำรวจพบว่า ประชาชนให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิต เป็นเรื่องต้นๆรองจากเรื่องสุขภาพกาย จึงเห็นว่า กรมฯควรจะเข้ามาสนับสนุนการเคลื่อนไวอันนี้ ทั้งนี้เนื่องจาก กรมฯเองก็มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนในสังคมไทย เราอยากจะนำความสุขมาร่วมสนับสนุนความก้าวหน้าเพื่อให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี”




นางดวงกมล อิศรพันธุ์
“เป้าประสงค์หลักของทีวีสาธารณะ คือ ความต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคข่ายต่างๆในสังคมมาร่วมกันพัฒนารายการด้วยกัน และได้นำเสนอประเด็น รวมทั้งสาระต่างๆทางหน้าจอโทรทัศน์ หรือสื่อที่ Thai PBS มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และส่งเสริมให้สังคมเกิดสุขภาวะ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะที่จะได้เป็นภาคี และนำความรู้มาร่วมกัน พัฒนาเป็นรายการโดยใช้ดัชนีวัดความก้าวหน้าของประเทศมาเพื่อนำเสนอให้เข้าถึงประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกหนึ่งแรง”




ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
“คิดว่าเป็นมิติของการทำงานเชิงวิชาการและการสื่อสารต่อสังคมอย่างเป็นระบบ ด้วยมีความร่วมมือจากภาคีต่างที่มาในวันนี้ ถ้าเปรียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ หากเดินทางผิด ก็จะส่งผลให้ธุรกิจ หรือประเทศแย่ลง ไม่มีความสุข และไม่มีความก้าวหน้าที่แท้จริง เมื่อก่อนมีหลายคนพูดว่าเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วประเทศก็จะดีขึ้นเอง แต่ข้อมูลที่ออกมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ยืนยันได้เป็นอย่างชัดเจน แม้รายได้ GDP ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศก้าวหน้าอย่างแท้จริง ประเทศที่จะไปได้ดีควรจะมี ดัชนีความก้าวหน้าของชาติ หรือเรียกสั้นๆว่า NPI ที่จะเป็นตัวสำคัญในการชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ และจะต้องสร้างความสมดุลในด้านต่างๆซึ่งแผนงานนี้ก็จะได้พัฒนาเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นต่อไป เรื่องที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ ทั้งผู้คิดค้น/กำหนด ผู้ขับเคลื่อน ผู้รับรู้หรือประชาชน ควรจะเข้าใจในแผนงานนี้ให้เป็นไปในทางทิศเดียวกัน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะได้สื่อสารข้อมูลชุดนี้นี้ออกไปสู่ประชาชนเพื่อประชาชนจะได้สะท้อน มีการสำรวจสาธารณะมติของประชาชนว่าประชาชนมีความคิดเห็นต่อทิศทางนั้นๆอยางไร ไม่ใช่เพียงแค่นักวิชาการวงล็กๆมานั่งทำกันเท่านั้น เราก็คาดหวังว่าประเทศเราจะมีบัญชีความก้าวหน้าของประเทศขึ้นมา
ก็เหมือนกับทางด้านเศรษฐกิจก็จะมีบัญชีประชาชาติด้านเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด ของการแผนการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ภาคส่วนต่างๆคงจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ข้อมูลจากงานแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือ “แผนงาน ขับเคลื่อนสังคมด้วยดัชนีความก้าวหน้าของชาติ (National Progress Index)”

หากใครอ่านแล้วมีคำถามว่า จะติดต่อทีมงานหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน จัดให้เลยคะ ตามนี้นะคะ
แผนงานขับเคลื่อนสังคมดัวยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) 87/495 หมู่บ้านภัสสรรัตนาธิเบศร์ (ซอย 31)
ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
โทรศัพท์ 02-9209691-2 โทรสาร 02-9208845
e-mail: npithailand.th@gmail.com
facebook: "Npi Thailand"
www.npithailand.com
(ขอบคุณคุณศิริวัฒน์ แดงซอน จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่ให้ข้อมูล)

และแล้ว การทำงานที่ท้าทายและน่าสนุกสนานก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง
แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังใหม่นะคะ

จากกลมกลิ้งตัวแม่คะ

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๗ "เสียงเพลง...สายสัมพันธ์จากแม่ถึงลูก"


ใยไหมลูกรัก วันนี้แม่กลับบ้านดึกอีกแล้วค่ะ แต่ลูกแม่ก็นอนดึกเช่นกัน คุณยายบอกว่า ลูกเพิ่งตื่นนอนตอนหนึ่งทุ่มนี่เอง (แม่ทำหน้าตาตกใจ พร้อมแววตาที่อิดโรย) แล้วคืนนี้แม่จะได้นอนกี่ทุ่มกันนี่ เป็นไปดังคาดคะ ตอนนี้สี่ทุ่มจะครึ่งแล้ว ลูกของแม่ยังนั่งดู "mummy and me" พร้อมทำท่าทางตามอย่างคึกคัก ไม่มีวี่แววของคนง่วงนอนแม้แต่น้อย ส่วนแม่ของลูก ก็ต้องนั่งเป็นเพื่อนลูก ดูลูกจ้องมองดูเพื่อนในจอเล็กๆ พร้อมกระดิกเท้า และขยับมือน้อยๆของลูกตามจังหวะของเพลงดังเช่นที่เคยเป็น



ลูกจ๋า วันนี้เป็นวันแรกที่ลูกร้องเพลงเองได้จนจบเพลง ทำให้แม่ทึ่งอีกแล้วคะลูก ลูกอายุยังไม่ถึงสองขวบเลย ลูกสามารถร้องเพลงให้แม่ฟังได้แล้ว ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพลงสั้นๆ แต่ก็ทำให้แม่รู้สึกดีเป็นที่สุดคะ เพลงของลูกไม่ยากคะ แต่แม่ถามพ่ออาร์ตแล้วว่าเคยได้ยินเพลงนี้ไหม พ่ออาร์ตตอบว่า "ไม่เคยได้ยินเลย" แต่สำหรับแม่ เพลงนี้แม่ได้ยินตั้งแต่เด็กๆ ชื่อเพลงอะไรนั้นแม่ก็ลืมถามคุณยาย จำได้แต่เนื้อร้อง ที่ร้องว่า "นกเอี้ยง มาเลี้ยงควายเฒ่า ควายกินข้าว นกเอี้ยงหัวโต กิโลแปดบาท ไปขายตลาด ได้ตังค์บาทเดียว" แม่ลุ้นอยู่ว่าลูกจะพูดคำว่า "ควาย" ชัดหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ชัดแม่คงมิอาจนำมาออกอากาศได้ เพราะพ่อของลูกคะยั้นคะยอให้แม่ถ่าย clip แล้วโหลดลงใน face book เพราะพ่ออาร์ตอยากเห็น แต่เมื่อแม่ได้ฟังแล้วก็อมยิ้มแล้วตัดสินใจว่า on air ได้จ้า



มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า "ระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรให้คุณแม่ฟังเพลงให้มากๆ ลูกจะได้ฉลาด" ดังนั้น เมื่อพ่อรู้ว่าลูกมาอยู่ในพุงแม่แล้ว ก็จัดเพลงชุดใหญ่มาเลยคะลูก พ่อบอกว่า มันดีมากมาก มันคือ "Mozart music" โอ้โหลูกจ๋า แม่ฟังครั้งแรกออกอาการมึน งง และกังวลใจ "แม่ไม่รู้ว่าตอนที่ลูกได้ยินครั้งแรกจะอาการเหมือนแม่หรือเปล่า" มึน และ งง นี้เกิดจากการฟังเพลงไม่รู้เรื่อง ไม่รู้สึกว่ามันเพราะ(รสนิยมแม่คงจะไม่ถึงอะคะลูก) แล้วก็ส่งผลให้แม่รู้สึกกังวลว่า ลูกจะไม่ฉลาดเพราะแม่ฟังไม่รู้เรื่อง (ความคิดชั่ววูบโดยไม่ได้ไตร่ตรองถึงเหตุและผลก่อน) และแล้ว แม่ก็ลงทุนซื้อหูฟังอันเบ้อเร่อ ไม่ได้เอาไว้ฟังเองหรอกคะ เอาไว้แนบพุงให้ลูกฟัง อิอิ



ไม่นานนัก แม่ก็เกิดมีคำถามที่ว่า "แล้วลูกจะอารมณ์ดีได้อย่างไร ในเมื่อแม่ฟังเพลงที่แม่ไม่ชอบฟัง" และแล้ว แม่ก็เริ่มปฏิบัติการล้มเลิกการฟังเพลง Mozart มาฟังเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงเก่าๆ สมัยแม่ยังสาว (เพราะร้องตามได้) สร้างความครื้นเครง สร้างรอยยิ้มให้แม่ได้ทุกวันเลยคะ โดยเฉพาะระหว่างทางที่แม่ขับรถ ไป-กลับ บ้านและที่ทำงาน(น่าจะมีคนทำวิจัย ผลจากการที่แม่ฟังเพลงลูกทุ่งว่าจะส่งผลให้ลูกมีไอคิวสูงขึ้นเท่าไรบ้างเนอะ)



เมื่อลูกอยู่ในพุงแม่ได้ประมาณ 4 เดือนกว่าๆ ในวันที่ 4 เมษายน 2551 เป็นวันที่ "ลูกดิ้น" เป็นครั้งแรกคะ แม่จำได้แม่นยำเลยทีเดียว เพราะลูกดิ้นตอนแม่กำลังแหกปากร้องเพลงอย่างอารมณ์ดีอยู่กับ "เจ้าพาไป" ระหว่างการเดินทางกลับบ้าน แม่จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเพลงที่แม่กำลังร้องอยู่นั้นชื่อเพลง "เพื่อนกัน" ทุกครั้งที่แม่ร้องเพลง แม่มักจะร้องเพลงที่มีความหมายในชีวิตของแม่ หรือเพลงที่แม่รู้สึกดีเป็นพิเศษ และเมื่อแม่ร้องเพลงใดใด แม่ก็มักจะเล่าถึงที่มาที่ไปของเพลงนั้นให้ลูกฟังเสมอ ถึงแม้ว่าลูกจะอยู่ในพุงแม่ก็ตาม แต่พอโตขึ้นลูกส่งเสียงร้องเองได้ แม่ก็ต้องเป็นฝ่ายทึ่ฟังลูกบ้าง เพราะลูกฟังแม่มามากแล้วตั้งแต่อยู่ในพุงใช่ไหมคะ



เช่นเคยคะ ก่อนร้องเพลง "เพื่อนกัน" แม่เล่าความประทับใจที่เกิดขึ้นกับเพลงนี้ให้ลูกฟัง ลูกจำได้ไหมคะ (จำได้ก็แปลกแล้วเนอะ) "เพลงนี้เป็นเพลงที่พ่อและแม่ ร้องในงานแต่งงานของเรา ถึงแม้ว่าเพลงนี้จะชื่อว่าเพื่อนกัน แต่ถ้าลูกได้ฟังเนื้อหา พร้อมท้วงทำนอง ด้วยความใส่ใจแล้วล่ะก็ ลูกจะสัมผัสได้ว่า มันมากกว่าคำว่าเพื่อนกันจริงๆ"



และวันนี้ วันที่แม่ได้ยินลูกร้องเพลงให้แม่ฟังบ้าง ทำให้แม่นึกย้อนไปเมื่อสองปีก่อนที่แม่ก็ร้องเพลงให้ลูกฟังเช่นกัน (แล้วมันจะเกี่ยวข้องกันไหมนะ) แต่แม่ว่า มันคงจะมีสายสัมพันธ์บางอย่างที่เชื่อมประสานกันระหว่างการร้องเพลงของแม่ในวันนั้น กับการร้องเพลงของลูกในวันนี้ไม่มากก็น้อย



สายใยบางๆที่ถักทอขึ้นมาตั้งแต่วันแรกที่เราได้เรียนรู้กัน สายใยความผูกพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะหนาแน่นและคงทนขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุด สายใยแห่งรักที่แม่ถักทอด้วยแรงใจ ด้วยความรักที่มีต่อลูกผืนนี้ จะคอยห่มให้ลูกอบอุ่นและสุขใจตลอดไปนะคะลูกรัก





หมายเหตุ

เพลงของคุณลุง "เบิร์ดกับฮาร์ท"ทีแม่กล่าวถึงคะลูก เพลง "เพื่อนกัน"

อยากบอกให้รู้ ฉันคือคู่ยามเธอพลั้ง
จะคอยเป็นพลัง สร้างความหวังนั้นไว้
ขอเธอจงตระหนัก ที่รัก อย่าร้องไห้
ตราบที่สองหัวใจนี่ไง ยังสู้อยู่คู่เคียงกัน

จะเป็นผู้คุ้มครองตักเตือน ดังเช่นเพื่อนผู้หวังดี
ความหวั่นกลัวทั้งหลายที่มี บอกฉันซิบอกมา
หากวันใดพบเจอ ใครทำเก้อจงรู้ว่า
โว้ว โวว ขวัญตา ซบลงมาบนบ่าฉัน

รักนั้นเป็นอย่างไร ในหัวใจใครรู้บ้าง
หากไม่มีใครชี้ทาง คงอ้างว้างกว้างไกล
ฉันไม่ใช่นักปราชญ์ อาจพลาดเพราะรักได้
เธอจงโปรดเข้าใจ และขออย่าได้อำลา

จะเป็นผู้คุ้มครองตักเตือน ดังเช่นเพื่อนผู้หวังดี
ความหวั่นกลัวทั้งหลายที่มี บอกฉันซิบอกมา
หากวันใดพบเจอ ใครทำเก้อจงรู้ว่า
โว้ว โวว ขวัญตา ซบลงมาบนบ่าฉัน
โว้ว โวว ขวัญตา ซบลงมาบนบ่าฉัน

รักลูกมากนะคะ
จากแม่ตัวกลมๆ

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๖ "ไม่มีเวลาสอนลูกหรือจะคอยสอนลูกตอนมีเวลา"



ใยไหมลูกรัก วันนี้แม่มีโอกาสได้ใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนออกเดินทางไปทำงานกับลูก มากกว่าทุกวันที่ผ่านมา (วันทำงาน) ลูกตื่นมาพร้อมกับวลีใหม่ๆ ลูกบอกแม่ว่า "ใยไหมอยู่กับคุณแม่" แอบยิ้มมุมปากน้อยๆ "ให้คุณตากับคุณยายไปทำงาน" อ้าว! ซะงั้น (ลูกแม่เป็นอะไรไป แม่..งง เขียนห่างกันหน่อยเดี๋ยวลูกอ่านลำบากความหมายจะเพี้ยนคะ) สงสัยฝันร้ายว่าแม่หายหรือเปล่านะ (แม่คิดเองคะ)


แล้วแม่ก็พาลูกเดินออกกำลังกายตอนเช้าก่อนอาบน้ำ แม่จูงมือลูกที่นุ่มนิ่มและค่อยๆเดิน คอยระวังไม่ให้ลูกล้ม เพราะกลัวลูกเจ็บ แต่แล้ว พอลูกเจอเต่าบ้านคุณป้านุชข้างบ้านเท่านั้นแหละ วิ่งอย่างกับจะไปกินเต่า (ไม่ใช่กินตับนะลูก) บ้านป้านุชมีเต่าอยู่สองตัว อะไรแม่มิอาจทราบได้ รู้แต่เพียงว่า เป็นเต่าบก มิใช่เต่าทะเล เพราะมันหดหัวและขาเข้าไปในกระดองได้คะลูก (แต่ถ้าลูกเห็นรูปแล้วรู้ว่าพันธุ์อะไรอย่าลืมบอกแม่ด้วยนะคะ)



แม่จ้องหน้าลูก ที่มีแววตาครุ่นคิด คิ้วชนกันเล็กน้อยถึงปานกลาง เอียงหัวนิดหน่อย จ้องมองเต่าทั้งสองตัวโดยไม่กระพริบตาเลย อย่างน้อยก็ประมาณ 20 วินาที ที่แม่จ้องลูกอยู่เช่นกัน ลูกมักจะแสดงอาการเช่นนี้ในกรณีที่เจอสิ่งที่ไม่เคยรู้จัก แน่นอนจ้าลูก ลูกรู้จักเต่าแน่นอน แต่แม่เชื่อว่า ลูกไม่เคยเห็นเต่าตัวเล็ก และลวดลายเช่นนี้ แถมยังได้สัมผัสถึงกระดองอันแข็งแรง และไม่ราบเรียบอย่างที่คิด รวมถึง มันมาอยู่ทำไมที่ในกะละมังอันนี้ ใช่ไหมคะลูก



แม่เอ่ยถามคำถามทบทวนความจำลูกในทันที โดยไม่ให้ลูกตั้งตัว

๑. เต่ากินอะไรคะลูก "กิน ผัก บุ้ง"

๒. แล้วไหนหัวเต่าคะลูก "เต่าตายแล้วแม่ ไม่มีหัว" (ความจริงเต่าหดอยู่ในกระดองเพราะใยไหมเคาะกระดองเล่นอยู่)

๓. แล้วมีอะไรอยู่ในกะละมังบ้านเต่าอีกคะลูก "ก้อนหิน เยอะแยะเลย"

๔. (เข้าโหมดเรื่องสีสัน) ผักบุ้ง สีอะไรคะลูก "สีเขียวไงแม่ แม่เห็นป่าวง่ะ" (อ้าว ไม่น่าถามเลย จำเป็นต้องตอบว่า เห็นคะลูก) ลูกคงอยากถามแม่ว่า แล้วแม่จะถามทำไมคะ

๕. กะละมังบ้านเต่า สีอะไรคะ "สีฟ้าคะ" (จริงแล้วเป็นสีน้ำเงินคะ แต่ลูกคงแยกยากเพราะไม่มีสีฟ้าจริงๆมาเปรียบเทียบให้เห็น อันนี้แม่เข้าใจ และไม่บอกลูกว่าถูกหรือผิด)

๖. แล้วหินในกะละมังสีอะไรคะลูก "สีขาว สีน้ำตาลด้วย" (ใช่คะ มันมีสองสีจริงๆ)

๗. แล้วเต่าล่ะคะสีอะไร ไม่มีคำตอบใดใดหลุดออกจากปากลูก แต่ลูกกลับพูดว่า "แล้วเต่าสีอะไร" พร้อมกับเคาะกระดองเต่าอย่างแรง เต่าหดหัวแทบไม่ทันเลยคะ แม่ต้องรีบห้ามก่อนเจ้าของเต่าจะเห็น

๘. เต่าอายุเท่าไหร่ "ยืนไงแม่" (แม่..งง ไปเกือบหนึ่งวิ นึกขึ้นได้ว่า ในการ์ตูนเรื่อง NEMO บอกว่าเต่ามีอายุยืน ถึง 150 ปี แต่ลูกคงไม่อาจเก่งกาจจำได้ทั้งหมด เลยบอกแม่ได้เพียงว่า "ยืนไงแม่" ขอบคุณคะลูก)



แม่ไม่อาจตั้งคำถามใดใดได้อีก เพราะกลัวคำตอบที่มันจะทำให้แม่ "คาดไม่ถึง" และนั่งงง อึ้งเหมือนคำตอบข้อสุดท้าย

แม่ได้สอนวิธีการช่วยเหลือเต่าทุกประเภทให้ลูกไว้ว่า "เมื่อลูกเห็นเต่าหงายท้องอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม พึงตระหนักไว้ว่า เป็นช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุดของมัน เพราะมันจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ทั้งเรื่องการเดิน การกิน การหลบภัย ฯลฯ และสุดท้าย เมื่อมันยังหงายท้องอยู่เช่นนั้นต่อไป มันก็จะต้องตายไปในที่สุด ลูกช่วยเต่าได้แน่นอนคะ (แม่รู้ว่าลูกอยากช่วย) ง่ายมากคะลูก จับตัวมันด้วยมือทั้งสองข้างที่แข็งแรงของลูก อย่างมั่นคง ค่อยๆคว่ำตัวมันลงมาให้กลับสู่สภาพปกติ และนำมันไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพียงเท่านี้ลูกก็ช่วยให้เต่าอายุยืนได้แล้วคะ"



เพียงช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง กับการสนทนากับลูกในเรื่องของ "เต่าเต่าและก็เต่า" ก็ทำให้แม่ได้เรียนรู้ว่า

"เราไม่ต้องโหยหาที่จะได้อยู่กับลูกตลอดเวลา เพียงเพื่อจะได้สอนลูกให้เต็มที่ดั่งใจคิด ขอเพียงแค่หมั่นสังเกต โอกาสที่มีในแต่ละวัน เพื่อใช้โอกาสนั้น ทำในสิ่งที่ตั้งใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว"



ก่อนกลับ ลูกบอกแม่ว่า "แม่เจี๊ยบ แมลงวันกินเต่า" แม่มองอย่างตั้งใจ เห็นแมลงวันตัวหนึ่ง กำลังกินเต่า เอ๊ยไม่ใช่ เกาะหลังเต่าอยู่

แม่บอกลูกเพียงว่า กระดองเต่าแข็งไหมคะลูก "แข็งคะ"

แมลงวันมีฟันไหมลูก (ลูกทำหน้างง)

ระหว่างเต่ากับแมลงวัน ใครตัวใหญ่กว่ากัน "เต่าตัวหย่ายยยยยยยย"

แล้วเต่าจะกินแมลงวัน หรือ แมลงวันจะกินเต่าคะลูก (แม่พูดเพียงเท่านี้ แล้วก็ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ ที่ทำให้ลูกแม่..งงงงงงงงงงงง บ้าง)



ความสุขเล็กๆน้อยของแม่คะลูก
จากแม่ตัวตัวกลมๆ

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๕ "คำถามที่ไม่ต้องรอคำตอบ"


ถึงใยไหมลูกรัก วันนี้แม่กลับมาที่บ้านด้วยแรงที่่เหลือน้อยเต็มทน เพราะตั้งแต่วันอังคาร-พฤหัสบดีที่ผ่านมา แม่ต้องเดินทางไปประชุมในเมืองใหญ่ตลอด ออกบ้านแต่เช้า และกลับมาบ้านแทบไม่เหลือพลังเพื่อถ่ายทอดให้ลูกเลย และวันนี้เหมือนแม่จะไม่ค่อยสบาย แต่พอเห็นลูกวิ่งเข้ามาหา กอดแม่ และบอกว่า "ใยไหมรักแม่เจี๊ยบ" "คิดถึงเยอะแยะ" เพียงเท่านี้ พลังที่เกือบหมดกลับถูกเติมกลับเข้ามาด้วยคำพูดของลูกไม่กี่คำ ช่างเป็นเรื่องมหัสจรรย์จริงๆ



ลูกจ๋า วันนี้ลูกเริ่มมีเค้ารางของ "หนูจำมัย" มาเยือนแล้ว แม่พาลูกไปซื้อผลไม้หน้าหมู่บ้าน ลูกถามแม่ว่า "นี่ อะ ไร" แล้วชี้ไปยังผลไม้ทุกชนิดที่มีอยู่ในร้าน เมื่อแม่ตอบว่าผลไม้ที่ลูกถามมันเรียกว่าอะไรแล้ว แม่ก็จะย้อนถามลูกไปว่า "........สีอะไร" ลูกตอบถูก 99% เนื่องจากชมพู่บางลูกมันก็ดูเหมือนสีชมพู แต่บางลูกมันกลับดูเป็นสีแดงมากกว่า(อันนี้แม่เข้าใจคะ เพราะแม่ก็ยังสับสนเหมือนกันที่จะบอกลูกว่าชมพู่มันสีอะไร) กว่าจะซื้อผลไม้เสร็จ แม่ค้าหน้าเขียวเลย เพราะแม่ซื้อช้านั่นเอง



จากเหตุการณ์ในวันนี้ ทำให้แม่ตระหนักดีว่า สักวันหนึ่ง ลูกคงจะนึกถามถึงที่มาที่ไปของลูกเองว่า หนูเกิดมาเมื่อไหร่? ทำไม? และเมื่อถึงเวลานั้น แม่เองคงตั้งลำไม่ทัน ที่จะตอบคำถาม ที่มันรู้อยู่แก่ใจแต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร



ด้วยความกลัวของแม่ แม่จึงต้องฝึกทำข้อสอบข้อนี้ซะก่อน เพราะแม่ได้ทำการเก็งข้อสอบแล้วว่า ต้องมีสักวันที่ข้อสอบเช่นนี้ จะออกสอบจนได้



ลูกเกิดมาเมื่อไหร่นั้นง่ายมากสำหรับแม่ "ลูกเกิดมาเมื่อเก้าเดือนก่อนวันเกิดของลูก นั่นหมายถึง ประมาณเดือน พฤศจิกายน 2551 วันแรกที่แม่รู้ว่ามีลูก แม่ยอมรับว่า สับสน เป็นกังวล จะเรียกว่าดีใจไหม ก็ไม่ใช่ จะว่าเสียใจไหม ก็ไม่เชิง วินาทีนั้น จำได้ว่าร้องไห้เลยแหละ เพราะแม่หมดหวังไปแล้วกับการมีลูก เพราะแม่ตั้งใจว่าจะมีลูกเลยตั้งแต่แต่งงานกับพ่อ แต่ก็นั่นแหละ หนึ่งปีผ่านไปก็ไม่มีวี่แววเลย และแม่ก็มีเป้าหมายใหม่ในการเรียนต่อปริญญาเอกด้วยเช่นกัน เมื่อตั้งสติ และกลับมา ณ ปัจจุบัน ณ จุดที่ยืนอยู่ แม่กลับมีสติขึ้นมาอีกครั้งว่าทำไมแม่ต้องรู้สึกเช่นนี้ แม่ต้องดีใจให้มากสิ เพราะนี้คือสิ่งที่แม่รอคอยมาเกือบปีแล้ว และแล้ว แม่ก็ยิ้มอย่างอิ่มสุข พร้อมหัวใจที่พองโต และกอดพ่อของลูก และขอบคุณลูกมากที่มาอยู่กับเราทั้งสองคน"



ทำไมลูกถึงเกิดมาบนโลกใบนี้ "เป็นคำถามที่มีคำตอบได้หลากหลายมาก แต่ถ้าให้แม่ตอบล่ะก็ แม่อยากตอบว่า เพราะลูกจะต้องเกิดมาเป็นครูให้พ่อและแม่ ได้เรียนรู้โลกใบนี้ว่า การที่คนคนหนึ่ง จะโตขึ้นมาและใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ให้นานที่สุดและสุขที่สุดได้อย่างไร โจทย์ใหญ่สำหรับแม่ไม่ใช่การที่จะให้ลูกมีอายุยืนยาวที่สุด เพราะแม่ตระหนักดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ระหว่างการเกิดขึ้น และตั้งอยู่นั้น จะอยู่อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด คุ้มค่าในที่นี้ แม่หมายความว่า ได้รู้จักโลกใบนี้อย่างมีสติ และเข้าใจถึงความเป็นไปต่างๆ เรียนรู้ที่จะจัดการกับความทุกข์ แลเรียนรู้ที่จะอยู่กับความสุขอย่างไม่ประมาท



นับตั้งแต่นั่นมา แม่เริ่มเรียนรู้กับครูตัวน้อยๆ ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของแม่อยู่ ลูกโตขึ้นทุกวัน และได้สร้างโจทย์ที่ต้องคอยหาคำตอบได้ทุกวัน เช่นกัน แล้วแม่จะเล่าให้ฟังในฉบับต่อไปนะจ๊ะ



วันนี้ แม่ได้ตอบคำถามให้ลูกแล้ว วันใดที่ลูกต้องการคำตอบ แม่อาจจะไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้เพื่อคอยตอบคำถามของลูกก็ได้ แต่รับรองเมื่อลูกได้อ่าน ลูกก็จะได้คำตอบที่ตรงใจแม่ที่สุด เพราะนี่เป็นคำตอบที่แม่อยากให้ลูกรับรู้



แม่รักลูกมากนะคะ
จากแม่ตัวกลมๆ

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๔ "ในโลกที่เงิน...ไม่มีค่า"

















ลูกจ๋า วันนี้แม่มีโอกาสได้พูดคุยกับมิตร ที่แม่เรียกว่ามิตร แทนคำว่าเพื่อนนั้น มันมีความหมายนะคะลูก "มิตร" ในที่นี้ แม่หมายถึง เพื่อน ที่ไม่ต้องคิดถึงกันตลอดเวลา ไม่ต้องถามหา ไม่ต้องพบเจอหน้า ไม่ต้องมาเมื่อเราทุกข์ใจ แต่มีอะไรพิเศษกว่า "เพื่อนร่วมโลก" เพราะเป็นเพื่อนร่วมโลกที่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจ และแม่มักจะสุขใจทุกครั้งที่ได้ถามไถ่ถึงความเป็นไปเมื่อมีโอกาส



ตั้งแต่แม่เกิดมา แม่ได้พบพานกับมิตร มากมาย (เอาไว้ค่อยๆเล่าให้ลูกฟังนะคะ) แต่วันนี้ มิตรที่แม่จะพูดถึงนั้น เค้ามากันเป็นเพคเกจ มีทั้ง พ่อ แม่ และลูกสาวอีกสองคน ซึ่งในอนาคต เค้าจะเป็นกัลยาณมิตรของลูก บนโลกใบนี้ และแม่ก็หวังว่า ลูกจะยินดีที่จะเป็นกัลยาณมิตรกับเค้าทั้งสองเช่นกัน แม่ได้รู้จักกับครอบครัวนี้ตั้งแต่ลูกอายุครรภ์เพียง 6 เดือน เราเจอกันที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เป็นวันที่ทั้งสองครอบครัว คอยลุ้นกันว่า ลูกจะเกิดมาเป็นเด็กหญิง หรือเด็กชาย สุดท้ายแล้ว ลูกก็เป็นเด็กหญิงทั้งคู่ (นั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดีครั้นได้พบเจอกันครั้งแรก) น่าประทับใจ ที่ลูกมีเพื่อนคนแรกตั้งแต่ลูกยังไม่เกิด



นับตั้งแต่วันนั้น ถึงวันนี้ ก็สองปีกว่าแล้วที่เราทั้งสองครอบครัวได้รู้จักกัน การได้มีโอกาสรับรู้ถึงความเป็นไปอยู่ห่างๆ ผ่านทางสังคมออนไลน์ ก็เพียงพอที่เราจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันแล้ว วันนี้ ได้คุยกับคุณพ่อ(พี่รัน) ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ไม่ต่างอะไรกับพ่ออาร์ตของลูกแม้แต่น้อย คุณพ่อทั้งสอง ยังคอยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยินดีและเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ในการประคับประคองครอบครัวให้อยู่บนวิถีแห่งสุข



หลายคำถามที่เอื้อนเอ่ยกันผ่านตัวหนังสือเล็กๆ บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่เห็นแม่แต่หน้าตา ไม่ได้ยินแม่แต่เสียง แต่กลับสัมผัสได้ถึงความจริงใจ และไม่น่าเชื่อว่ามันจะส่งผ่านถึงกันได้ โดยใช้เพียงตัวอักษรไม่กี่คำเป็นสะพานเชื่อมโยงถึงความรู้สึกนี้ เรื่องราวที่ได้เล่าขาน ผ่านบทสนทนาไม่กี่บท กลับทำให้แม่หวนคิดถึงวิถีชีวิตของครอบครัวเรา ตั้งแต่ที่ลูกได้ให้โอกาสให้พ่อและแม่ ได้เรียนรู้กับคำว่า "ครอบครัว" ครอบครัวที่พ่อและแม่ได้ร่วมกัน "ก่อ ร่าง สร้าง สุข" มันขึ้นมา และวันนี้ วันที่แม่ได้ทบทวนสิ่งเหล่านี้ พร้อมกับเรียนรู้กับมันด้วยการแลกเปลี่ยนกับ"มิตร"ของเรา



ลูกคงงงสินะว่า "ก่อ ร่าง สร้าง สุข" นั้้นมันคืออะไร แม่พูดถึงเรื่องอะไรกัน



"ก่อ" คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่พ่อกับแม่ร่วมกันก่อหวอดความคิดที่จะคบกัน และใช้ชีวิตที่เหลือร่วมกัน ระยะเวลาในการก่อการครั้งนี้ใช้เวลาไม่น้อย จนถึงวันนี้ก็เกือบ 10 ปีแล้วนะลูกกว่าจะได้เห็น "ร่าง" ซึ่งต่อยอดจากการก่อในหลายสิ่งหลายอย่าง จนรวมกันเป็นรูปร่าง เค้าโครงรางๆ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางให้เราทั้งสองก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน จนวันหนึ่งถึงเวลาที่เราได้ "สร้าง" ครอบครัวเล็กๆ ซึ่งอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ของครอบครัวทั้งสอง และมาถึงวันนี้ วันที่พ่อและแม่ อยู่ระหว่างการเรียนรู้และ สร้างครอบครัวเล็กๆ ที่มีลูกเป็นกระจกคอยสะท้อนการเรียนรู้ของพ่อและแม่ แต่การดำเนินชีวิตของเรา เรามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั่นคือ ความ"สุข"



การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมิตรในวันนี้ ทำให้แม่รู้ว่า "ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์ไปซะทุกอย่าง ทุกคนย่อมมีข้อจำกัดในตัวของตัวเองกันทั้งนั้น แต่นั่นแหละ เราจะทำให้ข้อจำกัดเหล่านั้นกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเราหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน สำหรับแม่แล้ว แม่มองไม่เห็นข้อจำกัดใดใด ในการดำเนินชีวิตของครอบครัวเราแม้แต่น้อย เพราะแม่มักจะใช้โอกาสที่มีอันน้อยนิดในการดูแลลูกเสมอโดยไม่เสียเวลาในการกลัดกลุ้มกับข้อจำกัดต่างๆ เพราะแม่ตระหนักดีว่า เมื่อใดที่แม่เสียเวลากับการมองข้อจำกัดมากเท่าใด นั่นหมายถึง แม่เสียโอกาสในการดูแลลูกมากเท่านั้น และนี่คือวิถีที่แม่เลือกในการดูแลลูกและครอบครัวของเรา"



ขอบคุณ พี่รัน พี่หยก น้องฟูจิ และน้องธิเบต ที่ทำให้แม่ได้ทบทวนตัวเอง ทำให้แม่ได้เรียนรู้การจัดการกับข้อจำกัดต่างๆในชีวิต ไม่เพียงแต่เรื่องครอบครัว หรือเรื่องลูกเท่านั้น เรื่องการทำงานของแม่ด้วยเช่นกัน แม่หวังว่า เมื่อใดที่ลูกคิดว่าลูกมีข้อจำกัดมากมายที่เป็นอุปสรรคทำให้ลูกไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้แล้วนั้น บทความถึงลูกฉบับนี้ จะช่วยให้ลูกได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ เพื่อให้ชีวิตลูกมีความสุขได้นะคะ



ท้ายนี้ สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ในโลกนี้มีอีกมากนัก และหนึ่งในนั้นก็คือ "มิตรภาพ" ที่มีเพียงความจริงใจเท่านั้นที่จะทำให้เราหา"มิตร" เจอบนโลกใบนี้ แม่มี"มิตร"ที่ดีไม่น้อยบนโลกกลมๆใบนี้ เมื่อมีโอกาสแม่จะบอกเล่าเก้าสิบเรื่องมิตรของแม่ให้ลูกได้รู้จักนะคะ



รักลูกมากนะคะ
จากแม่ตัวกลมๆ

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๓ "ฉันดีใจที่มีเธอ"


ใยไหมลูกรัก แม่ห่างหายจากการบันทึกเรื่องราวถึงลูกมานานโข วันนี้ ลูกได้ทำให้แม่ประทับใจหลายสิ่งหลายอย่างที่ลูกได้ทำ แต่ก็นั่นแหละ มันคือธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง



6 เดือนกว่าๆที่ผ่านมา ลูกเติบโตขึ้นจนวันนี้ 1 ปี 9 เดือนแล้วสินะ แม่มีความสุขกับการเรียนรู้ชีวิตของลูก ลูกแม่สามารถดำรงอยู่บนโลกใบนี้ได้เกือบสองปี ด้วยวิถีแห่งสุข ที่แม่และพ่อได้พยายามหล่อหลอมมันขึ้นมาจากจิตใจของเราทั้งสองคน โชคดีทีมีพลังเสริมหนุนที่แข็งแรงจากคุณตา คุณยาย คุณย่า และญาติพี่น้องทั้งหลาย หนูโชคดีมาก ที่หนูไม่เคยขาดความอบอุ่นเลย ทำให้หนูเป็นเด็กที่มีสภาวะทางจิตใจที่ร่าเริง เบิกบาน พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ และเพราะสิ่งนี้ สิ่งสำคัญจึงเกิด นั่นก็คือ หนูไม่เคยป่วยเลยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้แม่เป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะ"ไม่มีสุขใดจะเท่าสุขที่ลูกสุขสบายทั้งกายและใจ" ณ วันนี้ ในวัยไม่ถึงสองขวบ ลูกของแม่สามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ดี เช่น

๑. ลูกเรียกชื่อทุกคนได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ "แม่ชื่อเจี๊ยบ พ่อชื่ออาร์ต ตาชื่อพล ยายชื่ออี๊ด ย่าชื่อรินทร์ ปู่ชื่อโกวิทย์ ปู่ตาย ลุงชื่อเอ็ม ป้าชื่อโอ๋" ถามทีบอกทั้งตระกูลเลย
๒. ลูกสามารถทานข้าวเองตั้งแต่ 9 เดือน(ใช้มือ) และตอน 1 ปี(เริ่มใช้ช้อนได้) สุดท้ายลูกทานข้าวเองทุกวัน โดยเริ่มจากการจัดโต๊ะทานข้าวก่อน แล้วเดินไปหยิบถาดอาหารและขวดน้ำมาเอง หลังจากนั้นลูกเริ่มเรียกหาผ้ากันเปื้อน พร้อมกับเดินไปล้างมือก่อนทานข้าวทุกครั้ง เมื่อทานเสร็จลูกก็นำถาดอาหารไปเก็บเอง พร้อมกับนำผ้ามาเช็ดโต๊ะด้วย ลูกทำทุกอย่างได้ครบถ้วนเมื่อตอน 1Y5M
๓. ลูกมีน้ำใจและรู้จักแบ่งปัน ลูกมักจะแบ่งของชิ้นใหญ่ๆให้ผู้อื่นเสมอ
๔. ลูกสามารถแยกแยะ และเปรียบเทียบได้ว่า สิ่งไหนใหญ่หรือเล็กกว่าสิ่งไหน
๖. ลูกจำชื่อคนแม่นมาก แม้ว่าจะไม่ได้เจอกันบ่อยนัก สังเกตจากเวลาแม่พาลูกไปประชุมด้วย ลูกมักจะจำผู้ร่วมงานของแม่ได้ทุกคน
๗. ลูกรู้จักการเชื่อมโยง จากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งที่คุ้นชิน เช่น ลูกมีพ่อ-แม่ เวลาลูกเห็นสัตว์ในสารคดีที่อยู่กันเป็นฝูง ลูกมักจะเรียกว่า "นี่พ่อมัน(ตัวใหญ่สุด) นี่แม่มัน (ตัวขนาดรองลงมา) นี่ลูกมัน (ตัวเล็กสุด) เป็นต้น
๘. ลูกรู้จักแยกแยะเรื่องสีได้ชัดเจนโดยใช้เวลาไม่ถึงเดือน(นับตั้งแต่แม่เริ่มสอน) จนวันนี้ ทุกสิ่งอย่างลูกจะพูดเรื่องสีสันก่อนเป็นอันดับแรก(เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา) ต่อมา ลูกมักจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ลูกได้เรียนรู้ผ่านมาแล้ว เช่น เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ลูกบอกสีรถได้ทุกคัน แถมบอกได้ว่า คันไหนเป็นรถ Taxi บ้าง เป็นต้น
๙. ลูกรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะคุณตา ที่ไม่ค่อยสบาย ลูกจะชวนตาออกกำลังกายทุกเช้าโดยลูกทำเป็นตัวอย่าง ช่วยตาถอดและใส่ปลอกคอทุกวัน และที่สำคัญเวลาลูกกินขนม หรือผลไม้ ลูกจะบอกว่า "แบ่งตา แบ่งยาย ด้วยนะแม่"
๑๐. และวันนี้ ลูกท่องเลข 1-10 เป็นภาษาอังกฤษให้แม่ฟัง ได้อย่างชัดเจน และดูมีความสุข กับการที่ลูกทำได้

พัฒนาการของลูกเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม่ไม่เร่งหรือบังคับใดใดทั้งสิ้น ทุกอย่างเริ่มต้นที่ลูกเอง แม่พยายามที่จะช่วยเสริมสิ่งที่ลูกพร่องอยู่และหนุนในสิ่งที่ลูกทำได้ดี และวันหนึ่ง แม่หวังแต่เพียงว่า ลูกจะสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้อย่างเป็นสุข ในยามที่ไม่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ข้างกายแล้ว

รักลูกมากนะคะ
จากแม่ตัวกลมๆ

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่๒ "สัมผัสลมหนาว ริมฝั่งโขง"





















"เพลงรักริมฝั่งโขง เชื่อมโยงฮักเฮาหนุ่มสาว พิณเพลงรักร้อยเรื่องราว ให้เฮาหนุ่มสาวเว้าภาษาหัวใจ" ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงนี้เป็นแรงบรรดาลใจ กระตุ้นความอยากให้แม่ต้องเดินทางมาริมโขงอีกครั้ง พระธาตุพนม คือเป้าหมายหลักของการเดินทางครั้งนี้ เพราะพ่อและแม่มีพระธาตุพนม เป็นวัดประจำปีเกิดจึงเกิดการเดินทางท่องมุกดาหาร ในวันที่ ๒๐ -๒๑ พ.ย. ๕๓



การเดินทางทริปนี้ ออกเดินทางตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ ของวันที่ ๑๙ พ.ย. ๕๓ และไปถึงมุกดาหาร เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. ของเช้าวันใหม่ ก่อนเข้าบ้าน เราแวะตลาดเช้ากันในเมืองก่อน แม่สัมผัสได้ถึงลมเย็นๆที่มาทักทายทำให้ใจชื้นและตื่นขึ้นทันที รวมถึงลูกด้วย ที่ตื่นนอนพอดี ระหว่างการเดินทาง หนูน่ารักมาก ไม่งอแง และนอนหลับมาตลอดทาง ทำให้แม่คลายกังวลไปได้มากโข กลัวว่าลูกจะมีปัญหาในการเดินทาง แม่พาลูกเดินตลาดเช้า ดูหนูจ้องมองรอบตัวด้วยความสงสัย สังเกตุจากใบไน้าที่ครุ่นคิด และกังวล แต่ว่าไม่งอแงเพราะมีแม่อยู่ใกล้ๆ หาซื้ออาหารเช้ากันแล้วเราเดินทางกันต่อไปบ้านหว่านใหญ่ ซึ่งเป็นจุดหมายแรกของเรา



พอถึงบ้านคุณย่านิ่ม และปู่จรัญ ลงรถได้ลูกก็เดินฉับฉับไม่สนใจใคร สำรวจบริเวณบ้านเป็นการใหญ่ แลดูมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก การเดินทางนี้อีกยาวไกล เราพักอยู่บ้านย่านิ่ม และไปเที่ยวพระธาตุพนม พระธาตุเรณูนคร แก่งกะเบา หอแก้วมุกดาหาร ตลาดการค้าชายแดน(อินโดจีน) สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่มุ่งตรงเข้าสู่เมืองสะหวันเขตของลาว แวะทานก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อย(ปู่จรัญบอก) และที่สำคัญลูกได้ลอยกระทงครั้งแรกในชีวิต ณ ริมโขงแห่งนี้ เท่านี้ก็ถือว่ามากพอแล้วกับการเดินทางสองวันหนึ่งคืน



ลูกได้คำศัพท์ใหม่ๆหลายคำ เช่น นิ่มนิ่มนิ่ม รันรันรัน เป็นต้น ลูกเป็นเด็กที่แม้จะพูดคำเดี่ยวแต่ชอบพูดซ้ำ ลูกชอบการเดินทาง โดยเฉพาะเวลาที่แม่พาลูกไปที่ต่างๆ ที่มีบรรยากาศไม่เหมือนเดิม ลูกจะชอบเป็นพิเศษ ลูกปรับตัวเก่งมาก แม่ยอมรับ



การเดินทางครั้งนี้ ทำให้แม่รู้สึกว่าสนุกสนานที่ได้พาลูกไปไหนมาไหนด้วย ลูกไม่ได้ทำให้แม่ต้องเหนื่อยเลย กลับทำให้แม่มีความสุขมากที่มีลูกอยู่ข้างๆตลอดเวลา



โอกาสหน้า แม่จะพาลูกมาเยือนแม่น้ำโขงอีกครั้ง ขอสัญญา

รักลูกมากนะคะ
จากแม่ตัวกลมๆ

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๑ "ก้าวแรก แรกเริ่ม เริ่มก้าว"


วันนี้แม่ได้อ่านบันทึกของรุ่นพี่ลาดกระบังคนหนึ่ง ที่ได้บันทึกถึงลูก "ปลายฟ้า" ที่อายุได้ 4 ขวบแล้ว ทำให้แม่เกิดแรงบันดาลใจอย่างประหลาดที่อยากจะเขียนบันทึกให้ลูก เพื่อที่ลูกจะได้ใช้บทเรียนชีวิต ที่แม่ได้ประสบพบเจอจวบจนอายุย่างเข้าสู่วัย ๓๐ ในการก้าวพ้นปัญหาที่ลูกกำลังประสบอยู่ได้



"ก้าวแรก" ในชีวิตลูก (วันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒) กลับเป็นก้าวสำคัญในชีวิตของพ่อกับแม่ แม่ มีลูกในช่วงที่แม่อายุได้ 28 ปี หลังจากที่พ่อกับแม่ได้แต่งงานกันในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๕๐) แม่เพิ่งเรียนจบปริญญาโท และทำงานใน "มูลนิธินโยบายสุขภาวะ" ส่วนพ่อ "เป็นวิศวกรของบริษัทฮิตาชิ" ทำงานอยู่ที่กบินทร์บุรี ลูกคงสงสัยล่ะสินะว่าทำไมพ่อกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันที่บ้านทุกวันเหมือนครอบครัวอื่นๆ คงเป็นเพราะ ปัจจัยหลายๆอย่าง แต่สิ่งที่แสนจะสำคัญที่ลูกควรรับรู้ไว้เสมอว่า พ่อกับแม่ "รักกันมาก และรักลูกมากที่สุด"



"น้องใยไหม" ชื่อนี้แม่ตั้งใจมานานแล้วว่าจะเป็นชื่อของลูกสาวคนโตของแม่ รวมถึงชื่อ ด.ญ.ปณาฬี ทั้งพ่อและแม่ก็ตั้งใจตั้งให้ลูกเช่นกัน หนูเกิดหน้าฝน ปณาฬี แปลว่าสายน้ำ แม่หวังว่าชีวิตหนูจะชุ่มช่ำไปด้วยสายน้ำความสุข ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวหนูเอง และคนรอบข้างที่ได้รู้จักหนู



"ลูก" เป็นบทเรียนชีวิตที่สำคัญในชีวิตแม่ ตั้งแต่แม่รู้ว่ามีลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ลูกก็ช่วยสอนแม่ให้เรียนรู้และรู้จักโลกใบนี้มากขึ้น แม่เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต โดยเฉพาะช่วงชีวิตที่มีลูก บทเรียนสำคัญเหล่านี้ แม่จะพยายามถ่ายทอดให้ลูกผ่านบทความ ที่แม่จะพยายามเขียน และเก็บเกี่ยวไว้ให้มากที่สุด



และแม่หวังว่า เมื่อถึงเวลา ลูกจะได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างแน่นอน

รักลูกมากนะคะ
จากแม่ตัวกลมๆ