วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"เยือนถิ่นหนองโรง" ต้นแบบตำบลสุขภาวะ

โอกาสของการเรียนรู้มาเยือนอีกครั้ง เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ร่วมกับ "คณะอนุกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนบูรณาการโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง" ของ สสส. งานนี้ ได้เดินทางไปเยือน อบต.หนองโรง เครือข่ายตำบลน่าอยู่ ของสสส. ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี 


พอถึงจุดหมายปลายทาง ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าบ้าน รส สี ของน้ำฝาง ยังจำไม่เคยลืม การทักทายที่เป็นกันเอง คลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทางได้ไม่น้อย


เปิดวงคุยอย่างกันเองด้วยการแนะนำตัวของทุกคน เจ้าภาพซึ่งนำโดยท่านนายกสุวรรณวิชช์ แปรมปรียดิ์  ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา "กว่าจะถึงวันนี้ของหนองโรง" ให้ฟัง 


ราวปี 2515-2517 พื้นที่ 1,800 ไร่ เริ่มมีโรงงานน้ำตาล และมันสัมปะหลังขึ้น  มีความต้องการพื้นที่เพื่อปลูกอ้อย และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น มีการดันป่าเพื่อปลูกพืชดังกล่าว


ปี 2517 เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงในพื้นที่ มีแกนนำถูกยิงตายเป็นว่าเล่น (ณ สถานที่ ที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ ก็มีคนเคยตายอยู่ที่นี่ หนึ่งในนั้นคือ พ่อของท่านนายกนั่นเอง ท่านนกยกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่น และน้ำตาก็ไหลออกมา ระหว่างการพูดคุยกัน) และได้พื้นที่ทั้ง 1,800 ไร่คืนมา


ปี 2520 ได้พื้นที่เปล่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 มีการฟื้นฟู โดยธรรมชาติ ปล่อยให้ป่าขึ้นเอง ระหว่างนั้น ก็เริ่มมีกระบวนการจัดการโดยชุมชน จากกลุ่มคนเล็กๆ เพื่อรักษาป่าผืนนี้ไว้ "ป่าชุมชนบ้านห้วยสพานสามัคคี" โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับป่าสงวนอีก 16,000 ไร่


จนกระทั่งปี 2540 อาจกล่าวได้ว่า "ไม่มีคนเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่อีกแล้ว"  
ถือว่าเป็นการ “ปลูกต้นไม้ในใจคน”อนุญาตให้ตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่มีคนกล้าตัดไปใช้


เริ่มจากการทำงานป่าชุมชน ก่อเกิดความสามัคคี ก่อเกิดกิจกรรมเพื่อเชื่อมร้อยเด็กและเยาวชนคนรุ่นต่อไป ป่าเป็นมากกว่าที่เห็น เป็นได้ทั้งห้องเรียน ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นมหาวิทยาลัย....คุณลุงประยงค์ แก้วประดิษฐ์ ปราชญ์ชุมชน กล่าว


ต่อมาในปี 2544 เริ่มมีหน่วยงานสนับสนุนเข้ามาในพื้นที่ ได้แก่ พอช. สสส. เป็นต้น ทำให้ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการจัดการชุมชน โดยเริ่มจากการรู้จักตนเองก่อน และเริ่มขยายเครือข่ายการทำงานออกไป


ปัจจุบัน ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก อยู่ นอกเขตชลประทาน 


“ทำนาแบบพึ่งพาเทวดา” ชาวบ้านทำนาปีละ 3-4 ครั้ง ทั้งๆที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาบางปีไม่ได้เก็บเกี่ยวเลย (แต่ก็ต้องทำ)


นอกจากนี้ ยังมีการทำปศุสัตว์ในพื้นที่ นั่นคือการเลี้ยงวัวไล่ทุ่ง ซึ่งเป็นวัวพันธุ์พื้นเมืองที่แข็งแกร่ง ตัวเล็ก 


 “วัวลาน...เวรยามชั้นดี”วัวลาน เลี้ยงแบบไล่ทุ่ง เจอไฟไหม้ที่ไหนวิ่งหนีทันที คนเลี้ยงวัว กลายเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ.ของป่าชุมชน  


หนองโรงวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ประชาชนได้มีส่วนร่วมทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เกิดหมู่บ้านสายใยรัก เกิดแหล่งเรียนรู้แบบเชื่อมโยง 33 แหล่งเรียนรู้ใน 7 ระบบ ได้แก่


ระบบบริหารจัดการ
ระบบสวัสดิการชุมชน
ระบบเศรษฐกิจชุมชน
ระบบอาสาสมัคร
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณี
การจัดการป่า และ สิ่งแวดล้อม



ความท้าทายของพื้นที่
1. การรับไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวนำ มีการปลูกฝังเรื่องป่า ประเพณีวัฒนธรรม ให้กับเด็กๆ มีโครงการเด็กรักษ์ป่า กินนอนในป่าทุกปี เป็นการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โอยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีอายุตั้งแต่ 4 ปี ถึง 80 ปี


2. คนช่วงอายุ 30-40 ปี (วัยทำงาน) ปัจจุบัน ร้อยละ 80 ไม่มีการละทิ้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่ แทรกซึมอยู่ในทุกกิจกรรมของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มแปรรูปผลผลิตในชุมชน จนถึงการเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมต่างๆ หากจะมีไปทำงานข้างนอกบ้างก็จะไม่ไกล สามารถไป-กลับได้


มีโจทย์ของชุมชนอีกหลายเรื่องที่ต้องการการร่วมแรงร่วมใจกันหาทางออก แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคของคนในหนองโรงแม้แต่น้อย เพราะอุปสรรคที่ใหญ่หลวงที่สุด คนในชุมชนนี้ได้ก้าวผ่านมาแล้ว การเป็นชุมชนต้นแบบของหนองโรง จะเป็นแนวทางการจัดการชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป 





ด้วยความชื่นชมเป็นที่สุด
กลมกลิ้ง