วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล่า “ชาวตะเคียนเตี้ย”

โทรศัพท์ดังขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง เสียงที่คุ้นชินถามไถ่ถึงการทำงานในวันพรุ่งนี้ “ตกลงว่าพรุ่งนี้ว่าไง..............” บทสนทนาจบลงด้วยความรู้สึกที่คุ้นเคย โอเค้ พร้อมลุย ไปกันเลย

เวลา 05.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 54 อ้าวพวกเรา “เก็บของ ล้อหมุนหกโมงเช้าจ้า” คุณพ่อคุณลูก ตื่นด่วน แม่ต้องไปทำงานแล้วววววว เป้าหมายของเรา “เช้านี้ที่กบินทร์บุรี... ต้องไปถึงพัทยากลาง ชลบุรี...ก่อนเก้าโมง” พลขับพร้อม ผู้โดยสายพร้อม(รึเปล่า) แต่ก็ไปโลดคะ

แวะเพิ่มพลังด้วยอาหารเช้า ณ จุดพักรถบางปะกง บรรยากาศตอนเช้านี่เยี่ยมไปเลย “คนไม่มาก รถไม่เยอะ อากาศเย็นสบาย สดชื่นจริง” เราถึงที่หมายกันตรงเวลาเลยคะ เรารีบเดินจ้ำอ้าวเข้าห้องประชุมโดยทิ้งลูกให้พ่อดูแล... ดีจริงไรจริง

การพูดคุยกันในวันนี้น่าสนใจมาก ทุกคนมากันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นการพูดคุยกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 30 คน ในเรื่องของ “การศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างช่องทางการตลาด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการของคนพิการโดยเฉพาะ” มีผู้พิการเข้าร่วมด้วย และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างฉะฉาน บ่งบอกถึงการทำงานเพื่อสังคมผู้พิการที่ช่ำชอง ในที่ประชุมมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ที่เห็นผลเลยโดยไม่ต้องรอ คือการได้พบปะกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ได้รู้ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร เป็นต้น พอจบการประชุมเราก็ตรงดิ่งไปแนะนำตัวและทำความรู้จัก พ่วงด้วยขอเบอร์โทรติดต่อในทันที

หมุดหมายใหม่ในช่วงบ่าย ล้อหมุนมุ่งหน้าสู่ “ศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนตะเคียนเตี้ย” เราเลี้ยวซ้ายออกจากพัทยากลาง มุ่งหน้าสู่ โรงโป๊ะ ระยะทางน้อยกว่าร้อยกิโลเมตร กับการคุยโทรศัพท์นับสิบครั้งเพื่อถามทาง ก็ทางมันวกไปวนมา แต่ด้วยความเชี่ยวชาญของคุณเสมียน ก็ทำให้เรามาถึงโดยไม่หลงเลย(แอบกังวลอยู่ในใจว่าจะกลับออกมาถูกไหมนะ) เมื่อลงจากรถ ก็สะดุดเข้ากับชายพิการ นั่งอยู่บนรถเข็น แต่กลับส่งยิ้มมาให้ทั้งที่เราเป็นคนแปลกหน้า “คุณเจี๊ยบหรือเปล่าครับ” โอ้ เจอแล้ว “คุณเสมียนใช่ไหมคะ...ขอบคุณมากคะ” แล้วเราก็พูดคุยกันอย่างถูกคอ ก่อนจะฉุกคิดขึ้นได้ว่า เรามาทำงานนะคะ......

พี่เล็ก ผู้เป็นทั้ง อสม. แกนนำชุมชน ที่ปรึกษาศูนย์ ฯลฯ เข้ามาทักทายและยิ้มให้ พร้อมทั้งกุลีกุจอ หาพัดลม ที่หลับที่นอนให้น้องใยไหม(หลับอุตุอยู่ในรถ) และแล้ว ใยไหมก็ตื่นนอนและเริ่มสำรวจสถานที่ใหม่ทันที ส่วนเราก็ขอพูดคุยกับคุณอำพร เจียดกำจร หรือ พี่เล็กก่อน(คนอื่นยังทำงานกันอยู่อย่างมุ่งมั่น) พี่เล็กเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ว่า

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยกลุ่มคนพิการ ครอบครัวและอาสาสมัคร ผู้นำชุมชนและกลุ่มมวลชนต่างๆ ผู้มีจิตอาสาและเต็มใจมาช่วยในงานด้านคนพิการ รวมถึงเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย ร่วมกับ นายสุเมธ พลคะชา และนายเสมียน สุโรรัมย์ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ


โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ...
๑. พัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวในตำบลตะเคียนเตี้ยสู่ความยั่งยืน และ
๒. ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ที่ศูนย์แห่งนี้ มีวิสัยทัศน์ที่ “เน้นการพัฒนาคนพิการในด้านต่างๆ ได้แก่ การแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ ดำรงชีวิตได้ย่างมีสุข โดยการเสริมสร้างความรู้ และทักษะผ่านการจัดการความรู้”
โดยมีสโลแกนที่ว่า “สามัคคี จิตอาสา นำพาคนพิการ มีสุข”
พี่เล็กบอกเล่าด้วยความสนุกสนานถึงการล้มลุกคลุกคลานกว่าที่จะจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาได้ เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึก “ภูมิใจ” ในสิ่งที่พี่เล็กได้ทำมา จนถึงทุกวันนี้


“ที่นี่ ทำอะไรบ้างคะ เพราะมองดูรอบๆ เห็นผลิตภัณฑ์หลากหลายเลยคะ”
สาเหตุที่ดูว่ามีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เนื่องจาก ๑. เน้นการที่ผู้พิการแต่ละคนสามารถทำอาชีพที่สนใจและมีความถนัดก่อน และ ๒. เน้นวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่แสดงออกในความเป็นตะเคียนเตี้ย รวมถึงวัสดุเหลือใช้ที่มี เช่น สายรัดของ ตะปูที่แกะออกจากไม้พาเลท เป็นต้น ดังนั้น จึงมีอาชีพในช่วงแรกเริ่มของศูนย์ ดังนี้
๑. อาชีพทำไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งมี ๒ ขนาดให้เลือก คือ
อันใหญ่ อย่างหนา ราคาขาย ๓๕ บาท
อันเล็ก กะทัดรัด มีกระป๋องหุ้ม ราคาขาย ๒๕ บาท

ลักษณะพิเศษไม้กวาดทางมะพร้าวของที่นี่ คือ มีความประณีต หนาและทนทานไม่หลุดง่าย ทางศูนย์ฯ รับซื้อทางมะพร้าวจากผู้พิการทางสติปัญญาในตำบลตะเคียนเตี้ยซึ่งช่วยกันเหลา ในกระบวนการต่างๆ ทั้งการเข้าด้าม การตัดและการเย็บเอ็น มีการกระจายงาน และรายได้แก่คนพิการตามศักยภาพและความเหมาะสม
ทั้งนี้ไม้กวาดแต่ละด้าม แต่ละขั้นตอน คนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการผลิต ทั้งคนพิการที่บกพร่องทางด้านสติปัญญาซึ่งเป็นผู้เหลาทางมะพร้าว ผู้ปกครองคนพิการทางสมอง คนพิการตัดไม้ไผ่และเตรียมไม้ไผ่ คนพิการทางกายเข้าด้ามและเย็บเอ็น รวมกลุ่มทำไม้กวาด กว่า ๑๐ คน สามารถผลิตไม้กวาดได้ถึง ๒๕ ด้ามต่อวัน ทำให้มีไม้กวาดมากกว่า 500 ด้ามต่อเดือน
ปัจจุบันทางศูนย์พยายามหาตลาดเพิ่มเติม เช่น ร้านค้า สถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน หรือโรงงานต่างๆ เป็นต้น

๒. อาชีพพวงกุญแจร้อยลูกปัดและงานดัดลวด
มีมากมายหลายแบบให้เลือกชม อาทิ โดเรมอน ไก่ กระต่าย หมาพุดเดิล ปลาหมึก ผึ้ง เสือ และรูปสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนงานดัดลวดก็มี จักรสาน ก้างปลา รูปหัวใจ หุ่นยนต์ มอเตอร์ไซต์ เวสป้า ราคาตั้งแต่ ๑๕ - ๕๐ บาท สำหรับเป็นของฝาก ของชำ งานแต่ง งานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ งานครบรอบต่างๆ เป็นต้น
๓. อาชีพแกะสลัก รับแกะสลักทุกชนิด เช่น แกะป้าย โต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิดที่เป็น
ไม้เนื้อแข็ง ทั้งนี้หากใครมีขอนไม้ รากไม้ ปีกไม้เนื้อแข็งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และต้องการจะสนับสนุนคนพิการในตำบลตะเคียนเตี้ย ทางศูนย์ก็ยินดี

ที่น่าสนใจเพิ่มเติมคืออาชีพเสริมของ คุณเสมียน สุโรรัมย์ จากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งเป็นแกนนำหลักของศูนย์แห่งนี้ ยังมีความสามารถในการรับคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซ่อมคอมพิวเตอร์ ลง Windows โปรแกรมต่าง ๆ และรับสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน Word PowerPoint Excel อีกด้วย

เมื่อต้นปี 54 ทาง บ.มิตซุบะ ได้บริจากไม้พาเลท มาให้ทางศูนย์ (จัดส่งมาให้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20-30 อัน) จึงมีโจทย์ใหม่เกิดขึ้นว่า “แล้วจะเอาไปทำอะไร” ซึ่งทางทีมก็เริ่มต้นทำกระถางต้นไม้ ที่ใส่ของที่ระลึก ของชิ้นเล็กๆ เป็นต้น แต่ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ระหว่างการออกร้านขายของตามงานต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจแบะเวียนเข้ามาเยี่ยมที่ศูนย์ ก็มีความเห็นว่า “ทำไมไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือ ของใช้ที่จำเป็นล่ะ” ทำให้ทีมเกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมา

โอกาสดีที่ศูนย์ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ หรือ อ.ตุ้ม จากสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (SMEDI) ได้เข้ามาจัดฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้พาเลท ต่อมาเมื่อวันที่ ๖-๗ กรกฎาคม 54 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรมาฝึกอบรมพร้อมให้เครื่องมือเบื้องต้น เช่น เครื่องกลึง เครื่องแกะกะลามะพร้าว เลาเตอร์ และแท่นเจาะ เป็นต้น

ปัจจุบัน ทางศูนย์มี Order เข้ามาเรื่อยๆ จากเทศบาลตะเคียนเตี้ย โรงเรียนวัดเวรุ ชาวบ้านในชุมชน เป็นต้น ส่วนทางด้านราคา เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามคำสั่ง เช่น ชุดทำงาน ชุดกินข้าว เก้าอี้ ชั้นวางของ ที่เสียบไม้กวาด ตู้ยาฯลฯ ปัจจุบันเป็นการตั้งราคาเป็นชิ้นไป ยังไม่มีการกำหนดราคาอย่างชัดเจน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนทีมที่ทำเฟอร์นิเจอร์ประกอบด้วยพี่โรจน์ พี่เล็ก พี่น้อย และพี่ปราณี และยังไม่มีการขยายเครือข่าย หรือ ฝึกให้คนอื่นๆต่อไป

นอกจากไม้ที่ได้นำมาทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว ทางทีมพยายามใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เหลือ ได้แก่ พลาสติกรัดของที่ติดมากับไม้พาเลท นำมาสานเป็นเสื่อ ตะกร้า ชะลอมได้ หรือไม่ว่าจะเป็นตะปู ก็นำไปใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าวต่อไป (ดีจริงๆ แทบจะไม่มีของเหลือใช้เลย)

ส่วนช่องทางการตลาด นอกจากขายตรงที่ศูนย์แล้ว ยังนำสินค้าไปจัดแสดงและจำหน่ายตามงานต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ทาง บ.มิตซุบะ จัดสรรพื้นที่บางส่วนของตลาดนัดที่มีเดือนละ 2 ครั้ง ให้ทางศูนย์ฯ ไปจัดจำหน่ายสินค้าได้
ที่นี่แหละ “ตะเคียนเตี้ย” ฟังแล้วรู้สึกชื่นชมกับการทำงานของพี่พี่ที่นี่มาก หลังจากคุยกันได้พักใหญ่ พี่เล็กชวนไปดูสินค้าต่างๆ ได้คุยกับคุณเสมียน อีกครั้ง

“ได้ข่าวว่าที่โรงเรียนจ้างให้เป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ด้วยเหรอคะ...ดีจังคะ” เราถาม
คุณเสมียนตอบด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเช่นเคยว่า “ครับ ผมมีสอนทุกวัน ช่วงเช้าบ้าง บ่ายบ้าง แล้วที่โรงเรียนวัดเวรุ ก็จ้างให้ทำงานธุรการบางส่วนครับ ได้เงินเดือนประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน ก็เพียงพอครับ เพราะไม่ต้องเสียค่าที่พัก พักที่ศูนย์เลย” และวันนี้ คุณเสมียน ต้องไปส่งไม้กวาดให้เรือนจำพัทยา จำนวน 50 ด้าม ด้วยรถคันที่เห็นในภาพ เยี่ยมไปเลย มีความพยายามสูงส่งจริงๆ
ถาม “ตอนนี้มีคนสั่งไม้กวาดเยอะไหมคะ ขยายตลาดไปถึงไหนแล้วบ้าง”
ตอบ “ตอนนี้ก็พยายามขายอยู่เรื่อยๆครับ ปัจจุบันส่งเทศบาลตะเคียนเตี้ย 100 ด้าม/เดือน เทศบาลบางละมุง 100 ด้าม/เดือน และ บริษัท อิโต้ 100 ด้าม/เดือน เช่นกัน ส่วนเรือนจำพัทยา ก็เป็นลูกค้ารายล่าสุด ส่วนร้านค้าวัสดุก่อสร้างและชาวบ้าน ก็ยังขายให้เรื่อยๆครับ”

ถาม “ดูกิจกรรมภายในศูนย์มีมากมาย แล้วเราเอาเงินลงทุนในการทำงานมาจากไหนคะ”
ตอบ “หลักๆเลยได้มากจาก เงินบริจาคครับ รองลงมาก็เป็นเงินที่ได้จากการขายสินค้า แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ เช่น การเขียนโครงการกับทางเทศบาลตะเคียนเตี้ย และ จัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อพัฒนาคนพิการครับ” ผมขอตัวไปส่งไม้กวาดก่อนนะครับ แล้วคุณเสมียนก็ดันตัวเองจากรถเข็น จับแฮนด์รถ แล้วสตาร์ทรถอย่างคล่องแคล่ว พร้อมขยับขึ้นคล่อมรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง คันเก่งที่บรรทุกไม้กวาดอยู่เต็มคัน มุ่งสู่ “เรือนจำพัทยาต่อไป” (ไกลเหมือนกันนะนี่)

เป้าหมายต่อไปของเราคือ พี่โรจน์นายช่างใหญ่ประจำศูนย์ ภาพที่เห็นทำให้เราถึงกับอึ้งกิมกี่ พี่โรจน์พิการขาทั้งสองข้างเนื่องจากอุบัติเหตุ แต่ใบหน้ายังยิ้มแย้มได้ตลอด สถานที่ทำงาน อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ โล่ง โปร่ง สบาย มีอุปกรณ์วางอยู่รอบกายพร้อมหยิบฉวยได้โดยถนัดมือ เรารู้สึกได้ว่า “ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานใดใดทั้งสิ้น เพียงแต่ทำให้คนผู้นั้นมีความสะดวกน้อยลงเพียงเท่านั้นเอง”

ยกมือไหว้พี่ๆทุกคน แล้วกล่าวคำอำลา แล้วเมื่อมีโอกาส จะผ่านเข้ามาอีกแน่นอน

กลมกลิ้ง

"สู้...คิด...ทำ อย่าง แจ๊ค ผู้เลี้ยงปลา"

ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2554


“ขับรถตรงมาเรื่อยๆ จะมีโลตัสอยู่ทางด้านขวามือ ตรงมาไม่ต้องขึ้นสะพานไปนครชัยศรีนะครับ จากนั้นจะเห็นป้ายสีเบเยอร์ แล้วกลับรถ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอย แล้วค่อยโทรหาผมอีกที...” เจ้าของเสียงทีปลายสาย คอยบอกทางอย่างชัดเจน เป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันการหลงทาง....

เป็นไปดังคาด เราถึงที่หมายโดยไม่หลงทางจริงๆ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังขนาดย่อม แฝงตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ มีกล้วยไม้วางห้อยอยู่อย่างไม่ตั้งใจ เรายืนงงกันสักพัก ก็มีเสียง “เชิญข้างในเลยครับ” ดังออกมาจากมุมหนึ่งของบ้าน แต่เราก็ยังไม่เห็นเจ้าของเสียงนั้น เราลังเลอยู่ว่าจะเดินเข้าไปดีหรือไม่ เพราะเจ้าของบ้านยังไม่ออกมา...แต่แล้วเราก็ถือวิสาสะ เดินเข้าไป ไม่ถึงสิบก้าวจากจุดที่ยืนอยู่ สะดุดเข้ากับเตียงเหล็ก (เหมือนของผู้ป่วยในโรงพยาบาล) และต้นตอของเสียงมาจากที่นี่นะเอง

ยอมรับว่าตกใจนิดหน่อย เพราะไม่คิดว่าจะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ยังนอนอยู่บนเตียง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มากเช่นนี้ เราเดินเข้าไปยกมือไหว้ พร้อมกล่าวคำสวัสดี และแนะนำตัว ที่มาที่ไปเช่นเคย ห้องที่เต็มไปด้วยตู้ปลา และปลานานาสายพันธุ์ ที่เราผู้ซึ่งอยู่นอกวงการปลาสวยงาม แทบไม่รู้จักเลย คุณแม่ ผู้เป็นทั้งแม่และผู้ดูแลพร้อมๆกัน ด้วยอายุที่เข้าสู่วัยเกษียร แต่ต้องดูแลผู้พิการที่อยู่ในบ้านถึงสองคน เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งกำลังแรงกาย และแรงใจ อย่างมาก เห็นร่องรอยความเหนื่อยล้าที่ปรากฏอยู่บนในหน้าแล้วทำได้แค่เพียงแต่ให้กำลังใจ “ไม่เป็นไรหรอก ทำจนไม่รู้จักคำว่าเหนื่อยแล้วว่าเป็นอย่างไรแล้ว” แม่กล่าวทิ้งทายก่อนผละจากห้องนี้ไป

หลังจากถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนาม อายุอานามกันแล้ว ก็อยู่ในวัยเดียวกัน “แจ๊ค” เป็นชื่อคนต้นเรื่องของเราวันนี้ แจ๊ค อายุย่างเข้าวัยทำงาน แต่ทว่า ในชีวิตจริง แจ๊คได้เริ่มทำงาน หาเลี้ยงครอบครัว ที่ซึ่งขาดหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.6 (ปีพ.ศ.2541) การตัดสินใจไม่เรียนต่อหลังจากจบ ม.6 เพื่อมุ่งหวังที่จะดูแลจุนเจือครอบครัว และให้น้องชาย ได้มีโอกาสได้เรียน

อาชีพเลี้ยงปลาสวยงาม เริ่มต้นจากความชอบ พร้อมด้วยทุนอีกประมาณ 80,000 บาทที่รวบรวมได้ในครั้งนั้น ซื้อปลามาเลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้ และมีเจ้าของฟาร์มปลารายใหญ่ มาเช่าบ่อเพาะ “ไรแดง” เพื่อเป็นอาหารปลา การเรียนรู้วิธีการเลี้ยง เพาะพันธุ์ รวมถึงการตลาด อย่างจริงจัง ก็เริ่มต้นขึ้น ณ ตอนนั้นเอง ช่วงแรกเริ่มขายปลาในตลาดปลาสวยงามแถบบ้านโป่ง จ.ราชบุรีก่อน แล้วค่อยๆขยายตลาดไปยังจตุจักร และนำปลาเข้าประกวดทุกปีและได้รางวัลมาตลอด สะสมชื่อเสียงจากการประกวดปลา และด้วยอุปนิสัยที่ชอบช่วยเหลือแก่เพื่อนผู้ร่วมอาชีพ ช่วยเหลือลูกค้าเพื่อให้ได้ปลาที่ต้องการและถูกใจ จึงทำให้ “แจ๊ค” เป็นที่รักใคร่ของคนในวงการปลาสวยงาม

รายได้ที่หมุนเวียนเข้ามาต่อเดือนสูงถึง 35,000 – 40,000 บาทต่อเดือน เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว และมีไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัวบ้าง ด้วยความที่ชอบความเร็ว ชอบการแต่งรถ ถึงขั้นแต่งรถโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ต่างๆ ทำให้มีเพื่อนฝูงไม่น้อยในวงการนี้ และนี่ก็เป็นโอกาสในการขายปลาสวยงามด้วยเช่นกัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีฐานะ เลี้ยงเพื่อประดับบารมี เลี้ยงเพื่อโชคลาภ เป็นต้น

“ผมไม่ใช่คนขายปลา ผมเป็นคนเลี้ยงปลา แต่ปลามันขายตัวมันเอง แล้วมันก็เลี้ยงผม” นี่คือมุมมองในการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามของแจ๊ค “ปลาสวย ปลาไม่สวย กินอาหารเท่ากัน” หลังจากเพาะพันธุ์แล้วเลี้ยงเอง (พ.ศ.2541-พ.ศ.2543) พบว่ามีต้นทุนสูงมากในเรื่องค่าอาหาร และค่าจัดการในส่วนอื่นๆ พ่อค้าปลาสวยงามรายนี้ จึงเริ่มที่จะคัดเลือกปลาที่สวยที่สุดมาเลี้ยง และเพิ่มมูลค่าโดยการส่งปลาเข้าประกวดในเวทีต่างๆ “ปั้นปลา ล่าถ้วย สู่สังเวียน” จนสร้างชื่อได้ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงการปลาสวยงามอยู่ไม่น้อย “ถ้าปลาสวย ก็มีราคา นี่ก็คือปลามันขายตัวมันเอง เราเป็นเพียงแค่คนดูแลเอาใจใส่” ละอีกอย่างหนึ่ง “ผมหาปลาที่ถูกที่สุดให้ไม่ได้ แต่ผมหาปลาที่ดีที่สุดให้ได้”

ประมาณปี พ.ศ. 2550 เริ่มที่จะขยับขยายไปยัง จ.สมุทรปราการ ขนอุปกรณ์ต่างๆได้ไม่ถึงครึ่ง ก็ประสบอุบัติเหตุรถชน ทำให้พิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาชีพเลี้ยงปลาระยะที่หนึ่งนี้ก็ปิดฉากลง เพราะไม่มีใครดูแลปลาต่อได้เลย ไม่ได้ฝึกใครไว้เลย... นอนอยู่โรงพยาบาลเกือบปี ผ่านช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของชีวิตมาได้ จึงเริ่มที่จะเลี้ยงปลาสวยงามอีก ในปี 2551 จึงเริ่มต้นเลี้ยงปลาสวยงามระยะที่สอง ด้วยทุนประมาณ 30,000 บาท แต่ตอนนี้มีทุนอื่นๆ เช่น เพื่อนๆในวงการเลี้ยงปลาสวยงาม ลูกค้ารายเก่าที่เคยติดต่อกันอยู่ ชื่อเสียงที่สะสมมา นี้ก็เป็นทุนที่คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ ด้วยทุนที่มี จึงเริ่มด้วยปลา 6 ตู้ “เลี้ยงปลาที่ตลาดต้องการก่อน แล้วค่อยมาเลี้ยงปลาที่เราชอบ เพราะถ้าเราไม่ชอบปลาที่เราเลี้ยง เราก็จะเลี้ยงแบบไม่มีความสุข” แต่การเลี้ยงปลาครั้งนี้ก็เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิต คิดค้นวิธีใหม่ๆที่จะสามารถทำงานได้ง่าย (ด้วยการสั่ง เพียงอย่างเดียว)

การหาผู้ช่วยที่รู้ใจหายากมาก แม่ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง ก็ทำได้แต่เพียงให้อาหารปลา แต่การเลี้ยงปลา ไม่ได้มีการจัดการเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก เช่น การทำความสะอาดตู้ปลา การย้ายปลา ซึ่งย่อมต่างกันในรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด นี่ยังไม่รวมถึงการจัดการเรื่องการตลาด การหาปลาตัวใหม่เข้ามา ล้วนต้องใช้ทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา แต่การแก้โจทย์นี้ก็เริ่มมีความหวัง เมื่อมีน้อง (จ่าอากาศตรีจิรวัฒน์ เอมเจริญ) ที่ไว้ใจได้ เป็นมือเป็นไม้แทนได้ทุกอย่าง หัวเร็ว เรียนรู้เร็ว ทำให้แจ๊คมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง และตั้งใจจะปั้นน้องคนนี้ให้สามารถยึดอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามเลี้ยงตัวเค้าเองต่อไป แต่แจ๊คก็ใจชื้นได้ไม่นาน เมื่อน้องคนดังกล่าว ได้เสียชีวิตลงเมื่อไม่นานมานี้

โจทย์ใหญ่ในชีวิตก็กลับให้ต้องมาหาทางออกอีกครั้ง แต่แจ๊คก็หวังว่า อีกไม่นานก็คงจะหาทางออกได้เช่นเคย ณ ตอนนี้ เพื่อน คือผู้ให้กำลังใจ และผู้ให้ความช่วยเหลือหลัก การดูแลจัดการ ก็อาศัยจ้างเด็กแถวบ้านมาทำบ้างเป็นครั้งคราว

เมื่อปลายปี 2553 ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรม SME กับทาง สสพ. เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้นำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับอาชีพเลี้ยงปลาสวยงาม ๒ ประเด็นหลักคือ
๑. การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยการสร้างเรื่องราวให้กับปลาที่เราเลี้ยง เช่น พ่อแม่มันเป็นแชมป์เมื่อไหร่ ลักษณะเด่น ด้อย เป็นอย่างไรบ้าง เลี้ยงแล้วจะดีอย่างไรกับผู้เลี้ยงบ้าง นิสัยส่วนตัวของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น
๒. การคิดต้นทุนของสินค้า แต่เดิม ไม่เคยคำนึงถึงต้นทุนแฝงเลย เช่น ซื้อปลามา ๕,๐๐๐ บาท พอได้ราคา ๕,๕๐๐๐ บาทก็ขายแล้ว แต่เมื่อมาคำนวณถึงต้นทุนแฝง เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าตู้ปลา ค่าแรงในการดูแลปลา ค่าเคลื่อนย้ายปลา เป็นต้น เรียกได้ว่า ขาดทุนเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็คิดใหม่ ทำให้สามารถขายปลาในราคาที่ไม่ขาดทุน แถมได้กำไรอีกด้วย

อนาคต อยากต่อยอดจากการค้าปลาสวยงาม สู่ตลาดสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น การเพาะนกพันธุ์หายาก เป็นต้น รวมถึงการเลี้ยงกล้วยไม้ขายเพราะเป็นสิ่งที่ชอบเช่นกัน ต่อจากนี้ก็ต้อง “สู้(ต่อไป) คิด(ให้มากขึ้น) แล้วทำ(ในสิ่งที่ชอบ)” จากจุดที่แย่ที่สุดในชีวิต และเริ่มที่จะก้าว ยอมรับว่า “ก้าวแรกเป็นก้าวที่ยากมาก และพอก้าวไปเรื่อยๆก็จะเริ่มเจอทางแยกที่มากขึ้น มากขึ้น การตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด นั่นขึ้นอยู่กับว่า ใจเราชอบที่จะไปทางใด”


การพูดคุยกันท่ามกลางเสียงออกซิเจนจากตู้ปลา และปลาสวยงามที่ว่ายไปมา จบลงอย่างรวดเร็ว แววตาของแจ๊คระหว่างที่เล่าเรื่องราวเรื่องปลา ฉายแววของความหวัง ความมุ่งมั่น และความตั้งใจ รวมถึงความภาคภูมิใจ สัมผัสได้จากน้ำเสียงที่ดังฟังชัด ในใบหน้าที่อิ่มสุขเมื่อได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีในชีวิต ทำให้เราประทับใจ และหวังว่าเราจะเจอกันอีกครั้งในไม่ช้านี้












กลมกลิ้ง จริงๆ

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วานนีี้..ที่ดินสอพอง

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 28-29 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา ไปตามหาผู้ร่วมอุดมการณ์ ดินสอพอง ที่ลพบุรีมาคะ ครึ่งปีที่ผ่านมา การเดินทางของดินสอพองมาได้ไกลเกินคาด แววตาที่เปลี่ยนไปของทีม ซึ่งมีอ.ดวง ทองคำซุ่ย เป็นแม่ทัพใหญ่ มีลูกเรืออีก 3 ท่านคือ พี่บาล เอก และน้องผึ้ง ทุกคนดูมีความหวัง มีความกระตือรือร้น และสายตาที่เปร่งประกาย ทำให้ดิฉันสัมผัสได้กับความรู้สึกนั้น


จากเวทีดังกล่าว ทีมวิจัยได้คืนข้อมูลบางส่วนให้ชุมชน เราได้กลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาร่วมรับรู้ รับฟัง ประเด็นต่างๆ และได้พบกับผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ประสานงานภาคประชาชนให้เข้าร่วมเวทีวันนี้ พูดด้วยน้ำเสียงที่มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง กับการรวมกลุ่มคนทำดินสอพองในชุมชน


ผลจากการชวนคุย ชวนคิด ของกระบวนกร นามว่า "อ. ประเชิญ คนเทศ" แห่งลุ่มน้ำท่าจีน ได้จุดประกายเล็กๆขึ้นในพื้นที่ สะกิดความหวังที่ฝังลึก และทับถมด้วยบทเรียนความล้มเหลวของการรวมกลุ่มที่ผ่านมา
เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นอีกครั้งด้วยกลุ่มคนที่อยู่จนนาทีสุดท้าย และคนเหล่านี้แหละ จะเป็นแนวร่วมภาคประชาชนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพองต่อไป

แอบเป็นกำลังใจทีมนักวิจัยในพื้นที่ ก้าวต่อไป เพราะนี่คือโอกาส การทำงานรับใช้แผ่นดินเกิด เมืองนารายณ์ ดังใจหวัง

จาก ตัวกลม

ติดอาวุธทางปัญญา กับ IL นนท์

เค้าว่ากันว่า "โอกาส มีอยู่รอบตัว มีมากพอกับอากาศที่ใช้หายใจ เพียงแค่เรามองเห็นและไขว่ขว้าหรือไม่เท่านั้นเอง" และวันนี้ วันที่ 26 พ.ค. 54 โอกาส ก็มาถึงอีกครั้ง โอกาสที่จะได้เรียนรู้ และติดอาวุธทางปัญญา น่าเสียดาย ที่ไม่สามารถคว้าโอกาสได้เต็มที่ เพราะเวทีนี้ มีถึง 3 วัน คือ 26-28 พ.ค. เป็นการเสริมสร้างศักยภาพแกนนำผู้พิการในการทำงานในพื้นที่ โดย วิทยากรที่มีชั่วโมงบินสูงลิบลิ่วอย่าง รศ.โอภาส ปัญญา



เค้าว่ากันว่า "โลกกลม" ทางวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่ากลม แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนเกือบ 62 ล้านคน ในประเทศ มีคนกลุ่มหนึ่งที่วนเวียนอยู่รอบตัวเรา และวันนี้ เราก็เจอที่ปรึกษาของพี่สาวที่น่ารักเข้าจนได้



เค้าว่ากันว่า "เมื่อไหร่ที่น้ำเรายังไม่เต็มแก้ว เราก็มักจะได้รับการเติมเต็มสิ่งดีดีอยู่เสมอ" วันนี้ นอกจากจะได้รู้จักกับกระบวนกรชื่อดัง พร้อมได้ความรู้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังได้ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมวิถีทางการดำรงชีพอิสระจากพื้นที่ ปลายบาง ไทรม้า บางเลน ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นแกนนำผู้พิการในพื้นที่ ที่มีพลังใจอย่างเข้มแข็งในการทำงานเพื่อสังคม



เค้าว่ากันว่า "สุขไหนจะเท่า สุขเท่าการได้ให้" เพราะแววตาของทีมผู้จัด ทั้งคุณธียุทธ์ พี่ต่าย อ.ภพ ลุงเป๋ พี่ป้อม พี่แหม่ม ฯลฯ ฉายแววของความหวัง แววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่อยากจะเห็นเพื่อน มีชีวิตที่ดีกว่า "น่าทึ่ง" กับการจัดงานของกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่า "ผู้พิการ" แต่เชื่อหรือไม่ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดทางกายนั้น ไม่ได้มีอุปสรรคแม้แต่น้อย เพราะผู้พิการเหล่านี้ ใช้กำลังใจที่เข้มแข็ง และความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ทลายกำแพงของปัญหาหรืออุปสรรค จนคนธรรมดา ธรรมดา เช่นเรา มองข้ามปัญหาอุปสรรคเหล่านั้น สัมผัสได้แต่เพียง พลังแห่งการเรียนรู้เท่านั้น



ขอบคุณ สำหรับกำลังใจ ที่มีให้ทุกครั้งที่ได้สัมผัสและพูดคุย เพราะทุกครั้งที่คิดว่าเหนื่อยหรือท้อ ภาพของเหล่ามิตรบูรณาการ เหล่านี้ จะฉายเข้ามาในจิตสำนึกและทำให้มีพลังในการทำงานทุกครังไป


จาก ตัวกลม

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ออกตามหาความสุขกัน...

เมื่อไม่นานมานี้ มีหนังสือดีดีมาวางไว้ที่ office อีกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นเคย ไม่ยอดพลาดเลยที่จะเปิดอ่าน....
ด้วยชื่อหนังสือ และผู้แต่ง ที่ทำให้ต้องรีบหยิบมาอ่าน และก็อ่าน อ่าน อ่าน ก็มันน่าอ่านจนวางมันไม่ลง



" ความสุขโดยสังเกต" เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ แต่งโดย นิ้วกลม จากสำนักพิมพ์ มติชน
เมื่อได้อ่าน อ่าน อ่าน จนจบ ทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่า...แล้วเรามีความสุขหรือยัง



เชื่อว่า หลายคนเคยมีความสุข และสัมผัส รับรู้ ถึงความรู้สึกที่เรียกว่า "ความสุข" กันบ้าง (หากใครไม่เคยคงน่าสงสารแย่เลย) แล้วเคยลองที่จะสังเกตความสุขบ้างไหม?

ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้

"หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานล่าสุดของผู้ชายที่มองโลกในแงดี และเล่มนี้เขาได้หัดสังเกตุุความสุขที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขาไม่ว่าจะเป็นตัวของเขาเองหรือผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง การสังเกตในเรื่องต่างๆของ นิ้วกลม มีเหตุการณ์ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีในเล่มนี้ เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คนแรกที่เราจะโทรหาคือใคร และหลังจากจบเหตุการณ์แย่ๆ ในวันนั้นเราสัมผัสได้ถึงความสุข โดยมีความทุกข์(ตอนรถชน) มาบดบังเอาไว้ โดยแท้จริงแล้วความสุขอยู่รอบๆ ตัวเรานี่แหละ มันไม่ได้เดินหนีไปไหนไกลเลย เพียงแต่เราจะลองหันมาสังเกตมันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ลองเปิดตาเพื่อสังเกต เปิดใจให้กว้างและมองในสิ่งที่คิดว่าไม่เคยคิดจะมองมัน แม้กระทั่งปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็ตาม เชื่อว่าทุกอย่างมีความสุขอยู่ทั้งนั้น เพียงแต่เราจะเดินไปทำความรู้จักกับความสุขหรือเปล่า เท่านั้นเอง"

แล้วเรา...จะเริ่มหัดสังเกตุความสุขกันมากขึ้น รับรอง
แล้วเรา...จะสัมผัสกับความสุขได้มากขึ้น รับรอง
แล้วเรา...จะแบ่งปันความสุขได้มากขึ้น รับรอง
แล้วเรา...จะมีความสุขทวีคูณขึ้น รับรอง

โดย
ตัวกลม (ไม่ได้กลมเฉพาะนิ้ว กลมทั้งตัว อิอิ)