วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อบต. สมเด็จเจริญ มุ่งสู่ตำบลสุขภาวะ: โอกาสและความท้าทาย


อบต. สมเด็จเจริญ มุ่งสู่ตำบลสุขภาวะ: โอกาสและความท้าทาย
กัลยา นาคลังกา

จากเส้นทางตัวเมืองกาญจนบุรี มุ่งหน้าไปทาง อ.หนองปรือ ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร เราก็มาถึงอบต.สมเด็จเจริญ... ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ที่มาเยือนครั้งแรกที่สามารถมาได้แบบไม่หลงทาง เพราะต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ดูเหมือนจะฝ่าเข้าไปยังภูเขา แต่บรรยากาศสองข้างทางนั้นต้องยกนิ้วให้กับความสดชื่น อุดมสมบูรณ์
อบต. สมเด็จเจริญ อยู่ในอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี โดยในปี 2554 ได้เข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะ ในฐานะที่เป็นอบต.ในเครือข่ายของอบต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นผลให้ชาวตำบลสมเด็จเจริญได้รับโอกาสสำคัญในการทบทวนตัวเอง ถึงจุดเด่น และจุดที่ต้องเสริม เพื่อมุ่งสู่กระบวนการวางแผนให้เป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ
จากการได้เข้าเยี่ยมเยือนและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของอบต. ทำให้พบว่า ที่นี่มีศักยภาพในการยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้อยู่หลายด้าน  ด้วยมีฐานสำคัญที่เสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสมเด็จเจริญ นั่นคือ เป็นเขตพื้นที่ของโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตป่าสงวนที่ถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม ดังนั้นในปี 2535 จึงได้มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่ให้แก่ราษฎรผู้ยากจนเข้าไปประกอบอาชีพ ซึ่งได้จัดเป็นแปลงที่ดินให้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยครอบครัวละ ๑ ไร่ ที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ ๘ ไร่ ทำให้ปัจจุบันสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงประชาชนมีการประกอบอาชีพเกษตรที่ไม่เบียดเบียนป่าไม้ ที่สำคัญโครงการห้วยองคตฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานด้านการบริหารทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานและผู้สนใจทั่วประเทศอีกด้วย  
                และด้วยที่มีแหล่งเรียนรู้หลักอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาด้านอื่นๆ ในชุมชนตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการป่าชุมชน ที่เน้นในเรื่องการป้องกันป่าจากผู้บุกรุก โดยได้มีการจัดให้ชาวบ้านเข้าเวรยามคอยสังเกตการณ์อยู่เสมอ แต่เจ้าที่หน้าได้สะท้อนถึงข้อจำกัดว่า อาจจะยังดูแลได้ไม่เต็มที่ เนื่องด้วยจัดไม่มีระบบการจัดการที่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีเพียงหอคอยให้เฝ้าสังเกตการณ์ แต่มาตรการปราบปรามยังไม่ชัดเจนนัก
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพที่น่าสนใจภายในชุมชน อีกหลากหลายกลุ่ม ที่เป็นแหล่งสำหรับการเรียนรู้และเป็นแหล่งการจ้างงานให้แก่คนในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มสตรีถักโครเช  กลุ่มทำเครื่องดนตรีไทย ซึ่งนอกจากจะทำเครื่องดนตรีขายแล้ว ยังเปิดสอนให้เยาวชนมาเรียนดนตรีฟรีจนสามารถตั้งเป็นกลุ่มดนตรีไทย  กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ และกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่กล่าวมานี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับการขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะ โดยการยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนต่อไป

สำหรับการต่อยอดสำคัญอีกด้านที่เราได้มาเห็นในวันนี้คือ การเป็นต้นแบบเรื่อง พลังงานหมุนเวียน เมื่ออบต.ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปรับพื้นที่บริเวณของอบต.ให้กลายเป็นศูนย์เผยแพร่และถ่ายทอดเรื่องพลังงานและการเกษตร โดยสังเกตได้ชัดเจนว่ามีการจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ฐานคนเอาถ่าน ที่เป็นการสาธิตการเผาถ่านโดยใช้เตาประสิทธิภาพสูง ฐานผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ฐานก๊าซชีวภาพ ฐานเลี้ยงปลาและหมูหลุม และฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าครบถ้วน เพียงพอต่อการนำไปทำตามได้ แถมวิทยากรของศูนย์ยังบอกอีกว่านอกจากจะมีการสาธิตและเผยแพร่ความรู้แล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่าย จนมีการเล่าว่าผลิตขายแทบไม่ทัน
แต่สิ่งที่เราเห็นวันนี้เกือบทั้งหมด ได้หยุดทำเสียแล้ว!! ... จึงเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่เราเห็นนั้นเหลือเพียงอาคารเผาถ่าน ที่มีเตาเก่าตั้งอยู่ มองเห็นอาคารผลิตไบโอดีเซลที่ถูกปิดรกร้างไว้ มองเห็นโรงปุ๋ยกับเครื่องผสมปุ๋ยขนาดยักษ์ที่เหลือกำลังการผลิตเพียงอาทิตย์ละไม่กี่กระสอบ มองเห็นโรงสีข้าวชุมชนที่พร้อมให้บริการแต่ยังไม่มีประชาชนมาใช้ แต่ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของเจ้าหน้าที่อบต.ผู้ที่เป็นวิทยากรตัวยงก็ยังอยู่ ด้วยใจที่มุ่งมั่น และรอคอยโอกาสที่จะพลิกฟื้นศูนย์อีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เหตุใดจึงกลายจากสภาพเดิมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้คนหลั่งไหลมาขอศึกษา... บางทีคำตอบอาจอยู่ในใจหลายคนแล้ว แต่โจทย์ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เราจะมีการจัดการให้ศูนย์เรียนรู้เหล่านี้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องได้เองอย่างไร
คำถามนี้ชวนให้นึกถึงรูปแบบการประกอบกิจการอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อสังคม แต่ในขณะเดียวกันตัวองค์กรเองก็ต้องอยู่รอด และดำเนินการได้เองอย่างต่อเนื่อง หรือที่เราอาจเคยได้ยิน นั่นคือแนวคิดของ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่สามารถมีผลกำไรมาลงทุนเพื่อสังคมได้ต่อเนื่อง แต่นี่ก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงระบบการบริหารศูนย์เรียนรู้ยังมีบริบทที่ต้องคำนึงถึงอีกหลายส่วน ผู้ดำเนินการเองก็ควรที่จะต้องใส่ใจและหมั่นประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ
เชื่อว่าสำหรับอบต.สมเด็จเจริญเอง หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะแล้ว คงได้ฐานข้อมูลระดับตำบลที่เป็นประโยชน์มาก อันจะนำมาวางแผนการพัฒนาตำบลได้อย่างรอบด้านมากขึ้น รวมถึงได้มองเห็นจุดเด่น และจุดที่ต้องคำนึงถึงโดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนของศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะในชุมชนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น