วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ก้าวสำคัญของดินสอพองหนึ่งเดียวในโลก


ปีกว่าแล้วสินะ สำหรับการเดินทางไป-หลับ ระหว่าง กทม.กับ จ.ลพบุรี นับครั้งไม่ถ้วน นึกถึงทีไร เป็นอันต้องเปิดตารางในสมุดโน๊ตเล่มเล็กที่อยู่ในสภาพที่ใครเห็นก็คงมองว่า “ไปผ่านสนามรบที่ไหนมา” เปิดดู
ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา เป็นการเข้าร่วมเวทีที่บอกไม่ถูกว่า “รู้สึกอย่างไร”
หากย้อนไปเมื่อปี 2553 มีคนถามดิฉันว่า “ตกลงว่าโครงการนี้เอาไง...จะเดินหน้าหรือหยุดเดิน” ไม่รู้ด้วยความดื้อหรืออะไรที่ทำให้ตอบไปว่า “เดินหน้าต่อคะ...”
ผศ.ดร.ดวง ทองคำซุ่ยหัวหน้า
โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน:
ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง
จากวันนั้น ใจทั้งใจ ลงไปกับงานนี้โดยไม่รู้ตัว แต่ละก้าวที่ทำงาน แอบชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้น เคยปลอบใจตัวเองเหมือนกันว่า “อย่างน้อย ใครมองไม่เห็น ก็ตัวเราเองที่เห็นและชื่นชมกับมัน” แต่เปล่าเลย มาถึงวันนี้ ผู้ที่ดูจะภาคภูมิใจกับงานนี้ที่สุดนั่นคือ ผศ.ดร.ดวง ทองคำซุ่ย ผู้ซึ่ง “มุ่งมั่น พากเพียร ทุ่มเท” ในการทำงานกับชุมชนบ้านหินสองก้อน มานานกว่า 7 ปี (เพิ่งทราบตอนประชุมครั้งสุดท้ายของโครงการ) 

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมแววตาของอาจารย์ในวันนั้น ถึงทำให้ดิฉันน้ำตาคลอได้




เมื่อลองทบทวน คิด ตรึกตรองดูว่า กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ชุมชนคนบ้านหินสองก้อน กล้ากระโดดออกมาบอกว่า “อยากรวมกลุ่มกันแล้ว อยากจะทำดินสอพองสตุบ้าง” มีช่วงไหนบ้างนะที่เป็นมูลเหตุสำคัญของเรื่องนี้
ภาพป้าพยงค์ กำลังเตรียมการสาธิตการหยอดดิน
และให้ผู้เข้าร่วมได้หยอดดินสอพองและให้เป็นของที่ระลึก
หรือจะเป็นเพราะ “การไปปรากฏตัว ในงานกาชาด จังหวัดลพบุรี” เมื่อต้นปี 54 ครั้งนั้น งานนั้นมีการสาธิตการทำดินสอพอง เริ่มตั้งแต่ ดินผง (ดินมาร์ลหรือดินขาว) จนกระทั่งหยอดออกมาเป็นดินก้อน หลากหลายขนาด งานนั้น มีทั้งคนลพบุรี และคนต่างพื้นที่ให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นในหัวข้อที่ว่า “คุณรู้สึกอย่างไร หากดินสอพอง จะหมดไปจากบ้านเรา(จ.ลพบุรี)”

ภาพการบอกเล่าเรื่องราวของดินสอพอง องค์ความรู้ต่างๆ
ให้กับคนที่มาเข้าร่วมงานกาชาด และสนใจเดินชมบูธ
ภาพผู้เข้าร่วมงานกาชาด แสดงความคิดเห็นในบูธ
"คุณรู้สึกอย่างไร ถ้าหากดินสอพองจะหมดไปจากเมืองลพบุรี"
และมีการวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินสอพอง ปรากฏว่า คำถาม 10 ข้อ มีคนตอบถูกทุกข้อไม่ถึงร้อยละ 10 ทั้งๆที่เป็นคำถามที่ทีมงานคิดว่า “คนลพบุรีควรต้องรู้กันทุกคน” เช่น แหล่งผลิตดินสอพองของจังหวัดอยู่ที่ไหน? เป็นต้น แต่นั่น ก็เป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เราเห็นว่า “เราต้องทำงานนี้ให้หนักขึ้นอีกเท่าตัว” เพื่อให้คนในจังหวัดของเราได้รับรู้ข้อมูลเรื่องดินสอพอง และเห็นคุณค่ามากกว่านี้ เพราะนี่ เป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญของจังหวัดที่ว่า
“วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทอง  สมเด็จพระนารายณ์”
ไม่เพียงเท่านั้น อาชีพการทำดินสอพองยังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทรงคุณค่าของชุมชนบ้านหินสองก้อน ตำบลทะเลชุบศร ที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ แต่งานนั้น ใครจะรู้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพบเจอกับ นักเชื่อมประสานตัวยง อย่าง “คุณเครือวัลย์ ก้านลำไย” 



ในงานนี้ มีหลายคนยังไม่รู้ว่า ดินสอพอง คืออะไร? 
ดินสอพอง คือ ดินที่เกิดจากการผุพังของหินปูนและถูกน้ำพัดพามาสะสมอยู่ตามเชิงเขาหรือบริเวณที่ลุ่มยู่ลึกประมาณ 2 เมตร มีลักษณะเป็นสีขาวเกิดจากสารประกอบหินปูน ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) ผสมอยู่มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ดินมาร์ล" 
แหล่งดินมาร์ลที่มีคุณภาพดี อยู่ในตำบลท่าแค และ ตำบลกกโก จ.ลพบุรี และกว่าจะมาเป็นดินสอพองที่เราเห็น ต้องผ่านกระบวนการแยกกากดิน โดยใช้น้ำฉีดกองดินมาร์ล (ดินดิบ) ให้ดินละลายมารวมกันในบ่อ โดยใช้ตะแกรงกรองเศษวัสดุต่างๆออก พักไว้ในบ่อกรองหรือบ่อเนื้อ ทิ้งไว้หนึ่งคืน ดินขาวก็จะเริ่มตกตะกอนนอนก้นบ่อ จากนั้นก็แยกน้ำออก เอาเนื้อดินไปหยอดผ่านแม่พิมพ์ ตากแดด 2-3 วัน ก็เป็นอันใช้งานได้



ดินสอพองยังมีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (นำไปขัดผิวและตกแต่งรอยแตกร้าว) อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (ใช้แยกเปลือกปาล์ม) อุตสาหกรรมสี (ผสมสีเพื่อให้เนื้อสีเนียน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสั่งซื้อดินสอพองไปใช้ดับไฟป่าในต่างประเทศด้วย ใกล้ตัวมาอีกนิด ในยาสีฟัน ธูป เครื่องสำอางค์ ก็มีดินสอพองเป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากนี้ยังมีการนำดินสอพองไป รักษาแผลฟกช้ำ ใช้ทำไข่เค็มดินสอพอง  และปั้นหุ่นจำลอง หรือ องค์พระได้ด้วย
จังหวัดลพบุรี ได้ชื่อว่าผลิตดินสอพองที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด แห่งเดียวในประเทศไทย แหล่งผลิตอยู่ที่หมู่บ้านหินสองก้อน (อยู่ริมคลองชลประทาน) ในตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง (บริเวณสะพาน 6) เป็นหมู่บ้านที่มีการทำดินสอพองแทบแทุกครัวเรือน
อ.ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษา
โครงการ โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน:
ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 55 เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับคุณเครือวัลย์หรือคุณโอ๋ เป็นการเปิดวงคุยกับชุมชน ณ ใต้ต้นไม้ริมคลองชลประทาน แววของการเป็นผู้นำโดดเด่นมาก การให้ความสนใจ สอบถาม และการเสนอแนะ ทำให้ดิฉันอยากทำความรู้จักกับคุณโอ๋ให้มากขึ้น พอเสร็จจากวงคุยในพื้นที่ เรากลับมาคุยกันต่อที่ศูนย์วิทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พี่โอ๋ ตั้งใจตามมาคุยกับเราต่อ มีท่าน “อาจารย์ประเชิญ คนเทศ” ผู้ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชุมชนตื่น และตระหนัก กับความยั่งยืนของอาชีพดินสอพอง เป็นโต้โผงานนี้ อาจารย์ดวง ทองคำซุ่ยและทีมเป็นตัวหลักในการทำงานวิจัยและประสานงาน และมีตัวแทนชุมชนมา 5 คน ร่วมพูดคุยวางแผนการทำงาน
คุณเครือวัลย์ ก้านลำใย
ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตสมุนไพร ตำบลโพธิ์ตรุ
พอพูดคุยกันเสร็จ ดิฉันรับอาสาไปส่งคุณโอ๋ที่บ้าน ระหว่างการเดินทางกลับบ้าน ได้ถามไถ่เกี่ยวกับการทำงานและเรื่องอื่นๆ ทราบว่า พี่โอ๋ทำงานเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตสมุนไพรตำบลโพธิ์ตรุ เดิมที มีความตั้งใจจะมาขอซื้อดินสอพองสตุจากศูนย์วิทยาศาสตร์  คณะวิทยาศษสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เพราะทราบข้อมูลจากการไปเดินเที่ยวงานกาชาดเมื่อต้นปี เห็นน้องๆมาออกบูธจัดนิทรรศการ แต่พอมาติดต่อ ได้ทราบว่า ทางทีมงานกำลังทำ “โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง”อยู่ เมื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อมูลของโครงการ พี่โอ๋เองรู้สึกว่า “ยอมไม่ได้ที่จะให้ดินสอพองมันหมดไปจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แห่งนี้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพี่โอ๋เอง” จึงอาสามาช่วยผลักดันและขับเคลื่อนชุมชนให้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านหินสองก้อนให้ได้
เมื่อได้พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง เรื่องราวของดินสอพองกัน ดิฉันสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ มุ่งมั่นกับงานนี้ หลังจากวันนั้น ดิฉันก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณโอ๋ อยู่เป็นนิจ เพื่อปรึกษาหารือถึงลู่ทางการทำงานในพื้นที่ ที่สำคัญทีมงานของท่านอาจารย์ดวง ไม่ว่าจะเป็นคูณสุชาติ เหลาหอม  คุณสุรพล เขียวหวาน และคุณสุกัญญา จำปาทิพย์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเสริมหนุนเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ประสานงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับคุณโอ๋ อยู่เป็นประจำ
มเวทีเสวนาเรื่อง “ดินสอพอง...หนึ่งเดียวในโลก”
 ในงาน 
Organic and Natural Asian Expo2012
จนกระทั่ง วันหนึ่ง คุณโอ๋ชวนเข้าร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “ดินสอพอง...หนึ่งเดียวในโลก” ในงาน Organic and Natural Asian Expo2012 ซึ่งกระทรวงพานิชเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 55 ที่เมืองทองธานี ในงานนี้ ทางทีมนักวิจัยในพื้นที่ ได้เตรียมดินสอพองสตุ จากศูนย์วิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พร้อมบรรจุภัณฑ์ใหม่ ราคาใหม่ และให้ตัวแทนจากชาวบ้านมาขาย ระหว่างการพูดคุยกันในวงเสวนา ประกอบด้วย คุณพเยาว์  ผาสุขฐิน ชาวบ้านที่ทำดินสอพอง คุณสุชาติ เหลาหอม นักวิจัยในโครงการ  และดิฉัน ไปร่วมในนาม นักวิจัยและผู้ประสานงานจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ภายใต้โครงการสนับสนุนจัดการความรู้และประเมินผล “บูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพภาคกลาง (12 จังหวัด)” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และนักธุรกิจผู้ประกอบอาชีพส่งออกสมุนไพร ระยะเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับฟังอย่างมาก มีคำถามและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมรับฟัง อาทิเช่น ทำไมต้องให้ชุมชนรวมตัวกัน เอกชนทำเองไม่ได้หรือ? ดินสอพองจะยั่งยืนได้อย่างไร? และ แล้วทำไมไม่สตุตั้งแต่แรก สตุแล้วปลอดภัยจริงหรือ? เป็นต้น งานนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนารวมทั้งดินฉันเอง รู้สึกว่า มีผู้คนให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก
มีการแต่งตัวคล้ายดังหนุมาน
มาสร้างสีสรรค์ภายในงาน
ระหว่างการเสวนาบนเวที
และขายของที่บูธ ดินสอพอง
เมื่อเวทีเสวนาจบลง ดิฉันและทีมงาน ก็กลับมาที่บูธ เพื่อมาขายดินสอพองสตุ ปรากฏว่า ขายไปเกือบหมดแล้ว พี่ ป้า น้า อา จากชุมชนที่ยืนขายอยู่ มือเป็นระวิง ไม่รู้จะเอาเงินที่ได้ไปไว้ที่ไหน ดูวุ่นวายมาก แต่สีหน้าและแววตากลับบ่งบอกถึงความสุข สนุก กับการขายดินสอพองสตุครั้งนี้ พี่พเยาว์  ผาสุขฐิน พูดขึ้นมาว่า “โอ้โห...ขายดีขนาดนี้เลยหรือนี่ ทำดินมาตั้งนานไม่เคยขายได้อย่างนี้เลย นี่ขายไม่ถึงกิโล ได้เงินมาเกือบห้าร้อยบาท ถ้าเป็นที่บ้าน ต้องขายดินเกือบตัน กว่าจะได้เงินเท่านี้” ดิฉันได้ฟังเช่นนั้น ก็พลอยยิ้มไปด้วย และมีความหวังกับ “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” ว่าต้องไปต่อได้แน่นอน
หลังจากนั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ทางทีมนักวิจัยโครงการ นำโดย ผศ.ดร.ดวง ทองคำซุ่ย ได้เปิดเวที “เชื่อมประสานเครือข่ายจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการทำดินสอพอง” โดยมีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาแลกเปลี่ยน พูดคุยกัน ในเวทีวันนั้นเองมีตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมจังหวัด พานิชจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด นักข่าว ฯลฯ มาเขาร่วมแลกเปลี่ยนกัน สร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชนบ้านหินสองก้อนเป็นอันมาก วันนั้นมีคนในชุมชนเข้าร่วมกว่า 30 คน
ความพยายามของท่านอาจารย์ดวง และทีมงาน เปรียบเสมือน “การจุดประกายแห่งความหวัง” การลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลชุมชน การนำเสนอข้อมูล มุมมอง ใหม่ๆ ของพื้นที่ การพยายามสื่อสารเรื่องราวของดินสอพอง ในวงกว้าง โดยกลยุทธ์ต่างๆ นับไม่ถ้วน สุดท้ายแล้ว ใครจะไปรู้ว่า จะสามารถขับเคลื่อนงานมาได้ไกลขนาดนี้ ถึงแม้โครงการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาวะภาคกลาง (12 จังหวัด) จะปิดโครงการลง ตามธรรมชาติของงานวิจัย แต่นั่น ไม่ได้หมายความถึง การปิดตัวลงของ“โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง เพราะถึงวันนี้ "เชื้อไฟแห่งความหวัง" ที่ถูกจุดไว้เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา กำลังค่อยๆลุกลามไปในชุมชนคนทำดินสอพอง บ้านหินสองก้อนและนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน

ความคืบหน้าล่าสุด (วันที่ 25 ก.ค. 55) กลุ่มชุมชนบ้านหินสองก้อน ได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” อย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมทั้งส่งตัวอย่าง ดินสอพองที่สตุแล้ว ไปตรวจที่อุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอผลตรวจ แต่ชุมชนไม่ละทิ้งโอกาส ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ได้นำดินสอพองดิบ ไปสตุที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และนำไปขายเพื่อทดสอบและหาตลาด ตอนนี้รวบรวมได้ประมาณ 500 กิโลกรัม ก้าวต่อไป ทางท่านอาจารย์ดวง แจ้งให้ทราบว่า ทางศูนย์วิทย์ฯ ยินดีให้ทาง “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” ยืมเครื่องสตุ ไปใช้เพื่อสตุดินสอพองก่อน เนื่องจากจะมีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ที่เมืองทองธานี ในวันที่ 8-22 สิงหาคม 2555 ในงานนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะนำดินสอพองสตุไปจำหน่ายอย่างเป็นทางการในนาม “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน”

ถึงตอนนี้ ดิฉันเอง รู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น นึกถึงใบหน้าของท่านอาจารย์ดวง ทองคำซุ่ย ผู้ซึ่งเสียสละ ทุ่มเท กับงานนี้มานานกว่า 7 ปี ถึงแม้ว่าวันนี้ ชีวิตข้าราชการของอาจารย์จะปิดฉากลงเพราะปัญหาทางด้านสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดฉากของ “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” และนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของชุมชนคนดินสอพอง ดังที่อาจารย์หวังไว้ ต้องคอยติดตามจังหวะก้าวที่จะเกิดขึ้นต่อไป
บางคนมองเห็นโอกาสและคว้ามันไว้...แต่อีกหลายคนกลับกลัวที่จะคว้าโอกาสนั้น   และนั่น เป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง


โดย กลมกลิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น