วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล่า “ชาวตะเคียนเตี้ย”

โทรศัพท์ดังขึ้นในบ่ายวันหนึ่ง เสียงที่คุ้นชินถามไถ่ถึงการทำงานในวันพรุ่งนี้ “ตกลงว่าพรุ่งนี้ว่าไง..............” บทสนทนาจบลงด้วยความรู้สึกที่คุ้นเคย โอเค้ พร้อมลุย ไปกันเลย

เวลา 05.30 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 54 อ้าวพวกเรา “เก็บของ ล้อหมุนหกโมงเช้าจ้า” คุณพ่อคุณลูก ตื่นด่วน แม่ต้องไปทำงานแล้วววววว เป้าหมายของเรา “เช้านี้ที่กบินทร์บุรี... ต้องไปถึงพัทยากลาง ชลบุรี...ก่อนเก้าโมง” พลขับพร้อม ผู้โดยสายพร้อม(รึเปล่า) แต่ก็ไปโลดคะ

แวะเพิ่มพลังด้วยอาหารเช้า ณ จุดพักรถบางปะกง บรรยากาศตอนเช้านี่เยี่ยมไปเลย “คนไม่มาก รถไม่เยอะ อากาศเย็นสบาย สดชื่นจริง” เราถึงที่หมายกันตรงเวลาเลยคะ เรารีบเดินจ้ำอ้าวเข้าห้องประชุมโดยทิ้งลูกให้พ่อดูแล... ดีจริงไรจริง

การพูดคุยกันในวันนี้น่าสนใจมาก ทุกคนมากันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นการพูดคุยกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 30 คน ในเรื่องของ “การศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างช่องทางการตลาด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการของคนพิการโดยเฉพาะ” มีผู้พิการเข้าร่วมด้วย และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างฉะฉาน บ่งบอกถึงการทำงานเพื่อสังคมผู้พิการที่ช่ำชอง ในที่ประชุมมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ที่เห็นผลเลยโดยไม่ต้องรอ คือการได้พบปะกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ได้รู้ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร เป็นต้น พอจบการประชุมเราก็ตรงดิ่งไปแนะนำตัวและทำความรู้จัก พ่วงด้วยขอเบอร์โทรติดต่อในทันที

หมุดหมายใหม่ในช่วงบ่าย ล้อหมุนมุ่งหน้าสู่ “ศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนตะเคียนเตี้ย” เราเลี้ยวซ้ายออกจากพัทยากลาง มุ่งหน้าสู่ โรงโป๊ะ ระยะทางน้อยกว่าร้อยกิโลเมตร กับการคุยโทรศัพท์นับสิบครั้งเพื่อถามทาง ก็ทางมันวกไปวนมา แต่ด้วยความเชี่ยวชาญของคุณเสมียน ก็ทำให้เรามาถึงโดยไม่หลงเลย(แอบกังวลอยู่ในใจว่าจะกลับออกมาถูกไหมนะ) เมื่อลงจากรถ ก็สะดุดเข้ากับชายพิการ นั่งอยู่บนรถเข็น แต่กลับส่งยิ้มมาให้ทั้งที่เราเป็นคนแปลกหน้า “คุณเจี๊ยบหรือเปล่าครับ” โอ้ เจอแล้ว “คุณเสมียนใช่ไหมคะ...ขอบคุณมากคะ” แล้วเราก็พูดคุยกันอย่างถูกคอ ก่อนจะฉุกคิดขึ้นได้ว่า เรามาทำงานนะคะ......

พี่เล็ก ผู้เป็นทั้ง อสม. แกนนำชุมชน ที่ปรึกษาศูนย์ ฯลฯ เข้ามาทักทายและยิ้มให้ พร้อมทั้งกุลีกุจอ หาพัดลม ที่หลับที่นอนให้น้องใยไหม(หลับอุตุอยู่ในรถ) และแล้ว ใยไหมก็ตื่นนอนและเริ่มสำรวจสถานที่ใหม่ทันที ส่วนเราก็ขอพูดคุยกับคุณอำพร เจียดกำจร หรือ พี่เล็กก่อน(คนอื่นยังทำงานกันอยู่อย่างมุ่งมั่น) พี่เล็กเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ว่า

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยกลุ่มคนพิการ ครอบครัวและอาสาสมัคร ผู้นำชุมชนและกลุ่มมวลชนต่างๆ ผู้มีจิตอาสาและเต็มใจมาช่วยในงานด้านคนพิการ รวมถึงเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย ร่วมกับ นายสุเมธ พลคะชา และนายเสมียน สุโรรัมย์ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ


โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ...
๑. พัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวในตำบลตะเคียนเตี้ยสู่ความยั่งยืน และ
๒. ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ที่ศูนย์แห่งนี้ มีวิสัยทัศน์ที่ “เน้นการพัฒนาคนพิการในด้านต่างๆ ได้แก่ การแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ ดำรงชีวิตได้ย่างมีสุข โดยการเสริมสร้างความรู้ และทักษะผ่านการจัดการความรู้”
โดยมีสโลแกนที่ว่า “สามัคคี จิตอาสา นำพาคนพิการ มีสุข”
พี่เล็กบอกเล่าด้วยความสนุกสนานถึงการล้มลุกคลุกคลานกว่าที่จะจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาได้ เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึก “ภูมิใจ” ในสิ่งที่พี่เล็กได้ทำมา จนถึงทุกวันนี้


“ที่นี่ ทำอะไรบ้างคะ เพราะมองดูรอบๆ เห็นผลิตภัณฑ์หลากหลายเลยคะ”
สาเหตุที่ดูว่ามีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เนื่องจาก ๑. เน้นการที่ผู้พิการแต่ละคนสามารถทำอาชีพที่สนใจและมีความถนัดก่อน และ ๒. เน้นวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่แสดงออกในความเป็นตะเคียนเตี้ย รวมถึงวัสดุเหลือใช้ที่มี เช่น สายรัดของ ตะปูที่แกะออกจากไม้พาเลท เป็นต้น ดังนั้น จึงมีอาชีพในช่วงแรกเริ่มของศูนย์ ดังนี้
๑. อาชีพทำไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งมี ๒ ขนาดให้เลือก คือ
อันใหญ่ อย่างหนา ราคาขาย ๓๕ บาท
อันเล็ก กะทัดรัด มีกระป๋องหุ้ม ราคาขาย ๒๕ บาท

ลักษณะพิเศษไม้กวาดทางมะพร้าวของที่นี่ คือ มีความประณีต หนาและทนทานไม่หลุดง่าย ทางศูนย์ฯ รับซื้อทางมะพร้าวจากผู้พิการทางสติปัญญาในตำบลตะเคียนเตี้ยซึ่งช่วยกันเหลา ในกระบวนการต่างๆ ทั้งการเข้าด้าม การตัดและการเย็บเอ็น มีการกระจายงาน และรายได้แก่คนพิการตามศักยภาพและความเหมาะสม
ทั้งนี้ไม้กวาดแต่ละด้าม แต่ละขั้นตอน คนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการผลิต ทั้งคนพิการที่บกพร่องทางด้านสติปัญญาซึ่งเป็นผู้เหลาทางมะพร้าว ผู้ปกครองคนพิการทางสมอง คนพิการตัดไม้ไผ่และเตรียมไม้ไผ่ คนพิการทางกายเข้าด้ามและเย็บเอ็น รวมกลุ่มทำไม้กวาด กว่า ๑๐ คน สามารถผลิตไม้กวาดได้ถึง ๒๕ ด้ามต่อวัน ทำให้มีไม้กวาดมากกว่า 500 ด้ามต่อเดือน
ปัจจุบันทางศูนย์พยายามหาตลาดเพิ่มเติม เช่น ร้านค้า สถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน หรือโรงงานต่างๆ เป็นต้น

๒. อาชีพพวงกุญแจร้อยลูกปัดและงานดัดลวด
มีมากมายหลายแบบให้เลือกชม อาทิ โดเรมอน ไก่ กระต่าย หมาพุดเดิล ปลาหมึก ผึ้ง เสือ และรูปสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนงานดัดลวดก็มี จักรสาน ก้างปลา รูปหัวใจ หุ่นยนต์ มอเตอร์ไซต์ เวสป้า ราคาตั้งแต่ ๑๕ - ๕๐ บาท สำหรับเป็นของฝาก ของชำ งานแต่ง งานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ งานครบรอบต่างๆ เป็นต้น
๓. อาชีพแกะสลัก รับแกะสลักทุกชนิด เช่น แกะป้าย โต๊ะ เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิดที่เป็น
ไม้เนื้อแข็ง ทั้งนี้หากใครมีขอนไม้ รากไม้ ปีกไม้เนื้อแข็งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และต้องการจะสนับสนุนคนพิการในตำบลตะเคียนเตี้ย ทางศูนย์ก็ยินดี

ที่น่าสนใจเพิ่มเติมคืออาชีพเสริมของ คุณเสมียน สุโรรัมย์ จากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งเป็นแกนนำหลักของศูนย์แห่งนี้ ยังมีความสามารถในการรับคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซ่อมคอมพิวเตอร์ ลง Windows โปรแกรมต่าง ๆ และรับสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน Word PowerPoint Excel อีกด้วย

เมื่อต้นปี 54 ทาง บ.มิตซุบะ ได้บริจากไม้พาเลท มาให้ทางศูนย์ (จัดส่งมาให้เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20-30 อัน) จึงมีโจทย์ใหม่เกิดขึ้นว่า “แล้วจะเอาไปทำอะไร” ซึ่งทางทีมก็เริ่มต้นทำกระถางต้นไม้ ที่ใส่ของที่ระลึก ของชิ้นเล็กๆ เป็นต้น แต่ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ระหว่างการออกร้านขายของตามงานต่างๆ รวมถึงผู้ที่สนใจแบะเวียนเข้ามาเยี่ยมที่ศูนย์ ก็มีความเห็นว่า “ทำไมไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือ ของใช้ที่จำเป็นล่ะ” ทำให้ทีมเกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมา

โอกาสดีที่ศูนย์ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ภัทรีพันธ์ พงศ์วัชร์ หรือ อ.ตุ้ม จากสถาบันพัฒนาธุรกิจชุมชน (SMEDI) ได้เข้ามาจัดฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้พาเลท ต่อมาเมื่อวันที่ ๖-๗ กรกฎาคม 54 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรมาฝึกอบรมพร้อมให้เครื่องมือเบื้องต้น เช่น เครื่องกลึง เครื่องแกะกะลามะพร้าว เลาเตอร์ และแท่นเจาะ เป็นต้น

ปัจจุบัน ทางศูนย์มี Order เข้ามาเรื่อยๆ จากเทศบาลตะเคียนเตี้ย โรงเรียนวัดเวรุ ชาวบ้านในชุมชน เป็นต้น ส่วนทางด้านราคา เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามคำสั่ง เช่น ชุดทำงาน ชุดกินข้าว เก้าอี้ ชั้นวางของ ที่เสียบไม้กวาด ตู้ยาฯลฯ ปัจจุบันเป็นการตั้งราคาเป็นชิ้นไป ยังไม่มีการกำหนดราคาอย่างชัดเจน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนทีมที่ทำเฟอร์นิเจอร์ประกอบด้วยพี่โรจน์ พี่เล็ก พี่น้อย และพี่ปราณี และยังไม่มีการขยายเครือข่าย หรือ ฝึกให้คนอื่นๆต่อไป

นอกจากไม้ที่ได้นำมาทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว ทางทีมพยายามใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เหลือ ได้แก่ พลาสติกรัดของที่ติดมากับไม้พาเลท นำมาสานเป็นเสื่อ ตะกร้า ชะลอมได้ หรือไม่ว่าจะเป็นตะปู ก็นำไปใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าวต่อไป (ดีจริงๆ แทบจะไม่มีของเหลือใช้เลย)

ส่วนช่องทางการตลาด นอกจากขายตรงที่ศูนย์แล้ว ยังนำสินค้าไปจัดแสดงและจำหน่ายตามงานต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ทาง บ.มิตซุบะ จัดสรรพื้นที่บางส่วนของตลาดนัดที่มีเดือนละ 2 ครั้ง ให้ทางศูนย์ฯ ไปจัดจำหน่ายสินค้าได้
ที่นี่แหละ “ตะเคียนเตี้ย” ฟังแล้วรู้สึกชื่นชมกับการทำงานของพี่พี่ที่นี่มาก หลังจากคุยกันได้พักใหญ่ พี่เล็กชวนไปดูสินค้าต่างๆ ได้คุยกับคุณเสมียน อีกครั้ง

“ได้ข่าวว่าที่โรงเรียนจ้างให้เป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ด้วยเหรอคะ...ดีจังคะ” เราถาม
คุณเสมียนตอบด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเช่นเคยว่า “ครับ ผมมีสอนทุกวัน ช่วงเช้าบ้าง บ่ายบ้าง แล้วที่โรงเรียนวัดเวรุ ก็จ้างให้ทำงานธุรการบางส่วนครับ ได้เงินเดือนประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน ก็เพียงพอครับ เพราะไม่ต้องเสียค่าที่พัก พักที่ศูนย์เลย” และวันนี้ คุณเสมียน ต้องไปส่งไม้กวาดให้เรือนจำพัทยา จำนวน 50 ด้าม ด้วยรถคันที่เห็นในภาพ เยี่ยมไปเลย มีความพยายามสูงส่งจริงๆ
ถาม “ตอนนี้มีคนสั่งไม้กวาดเยอะไหมคะ ขยายตลาดไปถึงไหนแล้วบ้าง”
ตอบ “ตอนนี้ก็พยายามขายอยู่เรื่อยๆครับ ปัจจุบันส่งเทศบาลตะเคียนเตี้ย 100 ด้าม/เดือน เทศบาลบางละมุง 100 ด้าม/เดือน และ บริษัท อิโต้ 100 ด้าม/เดือน เช่นกัน ส่วนเรือนจำพัทยา ก็เป็นลูกค้ารายล่าสุด ส่วนร้านค้าวัสดุก่อสร้างและชาวบ้าน ก็ยังขายให้เรื่อยๆครับ”

ถาม “ดูกิจกรรมภายในศูนย์มีมากมาย แล้วเราเอาเงินลงทุนในการทำงานมาจากไหนคะ”
ตอบ “หลักๆเลยได้มากจาก เงินบริจาคครับ รองลงมาก็เป็นเงินที่ได้จากการขายสินค้า แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ เช่น การเขียนโครงการกับทางเทศบาลตะเคียนเตี้ย และ จัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อพัฒนาคนพิการครับ” ผมขอตัวไปส่งไม้กวาดก่อนนะครับ แล้วคุณเสมียนก็ดันตัวเองจากรถเข็น จับแฮนด์รถ แล้วสตาร์ทรถอย่างคล่องแคล่ว พร้อมขยับขึ้นคล่อมรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง คันเก่งที่บรรทุกไม้กวาดอยู่เต็มคัน มุ่งสู่ “เรือนจำพัทยาต่อไป” (ไกลเหมือนกันนะนี่)

เป้าหมายต่อไปของเราคือ พี่โรจน์นายช่างใหญ่ประจำศูนย์ ภาพที่เห็นทำให้เราถึงกับอึ้งกิมกี่ พี่โรจน์พิการขาทั้งสองข้างเนื่องจากอุบัติเหตุ แต่ใบหน้ายังยิ้มแย้มได้ตลอด สถานที่ทำงาน อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ โล่ง โปร่ง สบาย มีอุปกรณ์วางอยู่รอบกายพร้อมหยิบฉวยได้โดยถนัดมือ เรารู้สึกได้ว่า “ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานใดใดทั้งสิ้น เพียงแต่ทำให้คนผู้นั้นมีความสะดวกน้อยลงเพียงเท่านั้นเอง”

ยกมือไหว้พี่ๆทุกคน แล้วกล่าวคำอำลา แล้วเมื่อมีโอกาส จะผ่านเข้ามาอีกแน่นอน

กลมกลิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น