วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ก้าวสำคัญของดินสอพองหนึ่งเดียวในโลก


ปีกว่าแล้วสินะ สำหรับการเดินทางไป-หลับ ระหว่าง กทม.กับ จ.ลพบุรี นับครั้งไม่ถ้วน นึกถึงทีไร เป็นอันต้องเปิดตารางในสมุดโน๊ตเล่มเล็กที่อยู่ในสภาพที่ใครเห็นก็คงมองว่า “ไปผ่านสนามรบที่ไหนมา” เปิดดู
ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา เป็นการเข้าร่วมเวทีที่บอกไม่ถูกว่า “รู้สึกอย่างไร”
หากย้อนไปเมื่อปี 2553 มีคนถามดิฉันว่า “ตกลงว่าโครงการนี้เอาไง...จะเดินหน้าหรือหยุดเดิน” ไม่รู้ด้วยความดื้อหรืออะไรที่ทำให้ตอบไปว่า “เดินหน้าต่อคะ...”
ผศ.ดร.ดวง ทองคำซุ่ยหัวหน้า
โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน:
ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง
จากวันนั้น ใจทั้งใจ ลงไปกับงานนี้โดยไม่รู้ตัว แต่ละก้าวที่ทำงาน แอบชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้น เคยปลอบใจตัวเองเหมือนกันว่า “อย่างน้อย ใครมองไม่เห็น ก็ตัวเราเองที่เห็นและชื่นชมกับมัน” แต่เปล่าเลย มาถึงวันนี้ ผู้ที่ดูจะภาคภูมิใจกับงานนี้ที่สุดนั่นคือ ผศ.ดร.ดวง ทองคำซุ่ย ผู้ซึ่ง “มุ่งมั่น พากเพียร ทุ่มเท” ในการทำงานกับชุมชนบ้านหินสองก้อน มานานกว่า 7 ปี (เพิ่งทราบตอนประชุมครั้งสุดท้ายของโครงการ) 

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมแววตาของอาจารย์ในวันนั้น ถึงทำให้ดิฉันน้ำตาคลอได้




เมื่อลองทบทวน คิด ตรึกตรองดูว่า กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ชุมชนคนบ้านหินสองก้อน กล้ากระโดดออกมาบอกว่า “อยากรวมกลุ่มกันแล้ว อยากจะทำดินสอพองสตุบ้าง” มีช่วงไหนบ้างนะที่เป็นมูลเหตุสำคัญของเรื่องนี้
ภาพป้าพยงค์ กำลังเตรียมการสาธิตการหยอดดิน
และให้ผู้เข้าร่วมได้หยอดดินสอพองและให้เป็นของที่ระลึก
หรือจะเป็นเพราะ “การไปปรากฏตัว ในงานกาชาด จังหวัดลพบุรี” เมื่อต้นปี 54 ครั้งนั้น งานนั้นมีการสาธิตการทำดินสอพอง เริ่มตั้งแต่ ดินผง (ดินมาร์ลหรือดินขาว) จนกระทั่งหยอดออกมาเป็นดินก้อน หลากหลายขนาด งานนั้น มีทั้งคนลพบุรี และคนต่างพื้นที่ให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นในหัวข้อที่ว่า “คุณรู้สึกอย่างไร หากดินสอพอง จะหมดไปจากบ้านเรา(จ.ลพบุรี)”

ภาพการบอกเล่าเรื่องราวของดินสอพอง องค์ความรู้ต่างๆ
ให้กับคนที่มาเข้าร่วมงานกาชาด และสนใจเดินชมบูธ
ภาพผู้เข้าร่วมงานกาชาด แสดงความคิดเห็นในบูธ
"คุณรู้สึกอย่างไร ถ้าหากดินสอพองจะหมดไปจากเมืองลพบุรี"
และมีการวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินสอพอง ปรากฏว่า คำถาม 10 ข้อ มีคนตอบถูกทุกข้อไม่ถึงร้อยละ 10 ทั้งๆที่เป็นคำถามที่ทีมงานคิดว่า “คนลพบุรีควรต้องรู้กันทุกคน” เช่น แหล่งผลิตดินสอพองของจังหวัดอยู่ที่ไหน? เป็นต้น แต่นั่น ก็เป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เราเห็นว่า “เราต้องทำงานนี้ให้หนักขึ้นอีกเท่าตัว” เพื่อให้คนในจังหวัดของเราได้รับรู้ข้อมูลเรื่องดินสอพอง และเห็นคุณค่ามากกว่านี้ เพราะนี่ เป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญของจังหวัดที่ว่า
“วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทอง  สมเด็จพระนารายณ์”
ไม่เพียงเท่านั้น อาชีพการทำดินสอพองยังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทรงคุณค่าของชุมชนบ้านหินสองก้อน ตำบลทะเลชุบศร ที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ แต่งานนั้น ใครจะรู้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพบเจอกับ นักเชื่อมประสานตัวยง อย่าง “คุณเครือวัลย์ ก้านลำไย” 



ในงานนี้ มีหลายคนยังไม่รู้ว่า ดินสอพอง คืออะไร? 
ดินสอพอง คือ ดินที่เกิดจากการผุพังของหินปูนและถูกน้ำพัดพามาสะสมอยู่ตามเชิงเขาหรือบริเวณที่ลุ่มยู่ลึกประมาณ 2 เมตร มีลักษณะเป็นสีขาวเกิดจากสารประกอบหินปูน ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) ผสมอยู่มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ดินมาร์ล" 
แหล่งดินมาร์ลที่มีคุณภาพดี อยู่ในตำบลท่าแค และ ตำบลกกโก จ.ลพบุรี และกว่าจะมาเป็นดินสอพองที่เราเห็น ต้องผ่านกระบวนการแยกกากดิน โดยใช้น้ำฉีดกองดินมาร์ล (ดินดิบ) ให้ดินละลายมารวมกันในบ่อ โดยใช้ตะแกรงกรองเศษวัสดุต่างๆออก พักไว้ในบ่อกรองหรือบ่อเนื้อ ทิ้งไว้หนึ่งคืน ดินขาวก็จะเริ่มตกตะกอนนอนก้นบ่อ จากนั้นก็แยกน้ำออก เอาเนื้อดินไปหยอดผ่านแม่พิมพ์ ตากแดด 2-3 วัน ก็เป็นอันใช้งานได้



ดินสอพองยังมีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (นำไปขัดผิวและตกแต่งรอยแตกร้าว) อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (ใช้แยกเปลือกปาล์ม) อุตสาหกรรมสี (ผสมสีเพื่อให้เนื้อสีเนียน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสั่งซื้อดินสอพองไปใช้ดับไฟป่าในต่างประเทศด้วย ใกล้ตัวมาอีกนิด ในยาสีฟัน ธูป เครื่องสำอางค์ ก็มีดินสอพองเป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากนี้ยังมีการนำดินสอพองไป รักษาแผลฟกช้ำ ใช้ทำไข่เค็มดินสอพอง  และปั้นหุ่นจำลอง หรือ องค์พระได้ด้วย
จังหวัดลพบุรี ได้ชื่อว่าผลิตดินสอพองที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด แห่งเดียวในประเทศไทย แหล่งผลิตอยู่ที่หมู่บ้านหินสองก้อน (อยู่ริมคลองชลประทาน) ในตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง (บริเวณสะพาน 6) เป็นหมู่บ้านที่มีการทำดินสอพองแทบแทุกครัวเรือน
อ.ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษา
โครงการ โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน:
ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 55 เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับคุณเครือวัลย์หรือคุณโอ๋ เป็นการเปิดวงคุยกับชุมชน ณ ใต้ต้นไม้ริมคลองชลประทาน แววของการเป็นผู้นำโดดเด่นมาก การให้ความสนใจ สอบถาม และการเสนอแนะ ทำให้ดิฉันอยากทำความรู้จักกับคุณโอ๋ให้มากขึ้น พอเสร็จจากวงคุยในพื้นที่ เรากลับมาคุยกันต่อที่ศูนย์วิทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พี่โอ๋ ตั้งใจตามมาคุยกับเราต่อ มีท่าน “อาจารย์ประเชิญ คนเทศ” ผู้ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชุมชนตื่น และตระหนัก กับความยั่งยืนของอาชีพดินสอพอง เป็นโต้โผงานนี้ อาจารย์ดวง ทองคำซุ่ยและทีมเป็นตัวหลักในการทำงานวิจัยและประสานงาน และมีตัวแทนชุมชนมา 5 คน ร่วมพูดคุยวางแผนการทำงาน
คุณเครือวัลย์ ก้านลำใย
ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตสมุนไพร ตำบลโพธิ์ตรุ
พอพูดคุยกันเสร็จ ดิฉันรับอาสาไปส่งคุณโอ๋ที่บ้าน ระหว่างการเดินทางกลับบ้าน ได้ถามไถ่เกี่ยวกับการทำงานและเรื่องอื่นๆ ทราบว่า พี่โอ๋ทำงานเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตสมุนไพรตำบลโพธิ์ตรุ เดิมที มีความตั้งใจจะมาขอซื้อดินสอพองสตุจากศูนย์วิทยาศาสตร์  คณะวิทยาศษสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เพราะทราบข้อมูลจากการไปเดินเที่ยวงานกาชาดเมื่อต้นปี เห็นน้องๆมาออกบูธจัดนิทรรศการ แต่พอมาติดต่อ ได้ทราบว่า ทางทีมงานกำลังทำ “โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง”อยู่ เมื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อมูลของโครงการ พี่โอ๋เองรู้สึกว่า “ยอมไม่ได้ที่จะให้ดินสอพองมันหมดไปจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แห่งนี้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพี่โอ๋เอง” จึงอาสามาช่วยผลักดันและขับเคลื่อนชุมชนให้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านหินสองก้อนให้ได้
เมื่อได้พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง เรื่องราวของดินสอพองกัน ดิฉันสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ มุ่งมั่นกับงานนี้ หลังจากวันนั้น ดิฉันก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณโอ๋ อยู่เป็นนิจ เพื่อปรึกษาหารือถึงลู่ทางการทำงานในพื้นที่ ที่สำคัญทีมงานของท่านอาจารย์ดวง ไม่ว่าจะเป็นคูณสุชาติ เหลาหอม  คุณสุรพล เขียวหวาน และคุณสุกัญญา จำปาทิพย์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเสริมหนุนเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ประสานงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับคุณโอ๋ อยู่เป็นประจำ
มเวทีเสวนาเรื่อง “ดินสอพอง...หนึ่งเดียวในโลก”
 ในงาน 
Organic and Natural Asian Expo2012
จนกระทั่ง วันหนึ่ง คุณโอ๋ชวนเข้าร่วมเวทีเสวนาเรื่อง “ดินสอพอง...หนึ่งเดียวในโลก” ในงาน Organic and Natural Asian Expo2012 ซึ่งกระทรวงพานิชเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 55 ที่เมืองทองธานี ในงานนี้ ทางทีมนักวิจัยในพื้นที่ ได้เตรียมดินสอพองสตุ จากศูนย์วิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พร้อมบรรจุภัณฑ์ใหม่ ราคาใหม่ และให้ตัวแทนจากชาวบ้านมาขาย ระหว่างการพูดคุยกันในวงเสวนา ประกอบด้วย คุณพเยาว์  ผาสุขฐิน ชาวบ้านที่ทำดินสอพอง คุณสุชาติ เหลาหอม นักวิจัยในโครงการ  และดิฉัน ไปร่วมในนาม นักวิจัยและผู้ประสานงานจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ภายใต้โครงการสนับสนุนจัดการความรู้และประเมินผล “บูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพภาคกลาง (12 จังหวัด)” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และนักธุรกิจผู้ประกอบอาชีพส่งออกสมุนไพร ระยะเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับฟังอย่างมาก มีคำถามและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมรับฟัง อาทิเช่น ทำไมต้องให้ชุมชนรวมตัวกัน เอกชนทำเองไม่ได้หรือ? ดินสอพองจะยั่งยืนได้อย่างไร? และ แล้วทำไมไม่สตุตั้งแต่แรก สตุแล้วปลอดภัยจริงหรือ? เป็นต้น งานนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนารวมทั้งดินฉันเอง รู้สึกว่า มีผู้คนให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก
มีการแต่งตัวคล้ายดังหนุมาน
มาสร้างสีสรรค์ภายในงาน
ระหว่างการเสวนาบนเวที
และขายของที่บูธ ดินสอพอง
เมื่อเวทีเสวนาจบลง ดิฉันและทีมงาน ก็กลับมาที่บูธ เพื่อมาขายดินสอพองสตุ ปรากฏว่า ขายไปเกือบหมดแล้ว พี่ ป้า น้า อา จากชุมชนที่ยืนขายอยู่ มือเป็นระวิง ไม่รู้จะเอาเงินที่ได้ไปไว้ที่ไหน ดูวุ่นวายมาก แต่สีหน้าและแววตากลับบ่งบอกถึงความสุข สนุก กับการขายดินสอพองสตุครั้งนี้ พี่พเยาว์  ผาสุขฐิน พูดขึ้นมาว่า “โอ้โห...ขายดีขนาดนี้เลยหรือนี่ ทำดินมาตั้งนานไม่เคยขายได้อย่างนี้เลย นี่ขายไม่ถึงกิโล ได้เงินมาเกือบห้าร้อยบาท ถ้าเป็นที่บ้าน ต้องขายดินเกือบตัน กว่าจะได้เงินเท่านี้” ดิฉันได้ฟังเช่นนั้น ก็พลอยยิ้มไปด้วย และมีความหวังกับ “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” ว่าต้องไปต่อได้แน่นอน
หลังจากนั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ทางทีมนักวิจัยโครงการ นำโดย ผศ.ดร.ดวง ทองคำซุ่ย ได้เปิดเวที “เชื่อมประสานเครือข่ายจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการทำดินสอพอง” โดยมีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาแลกเปลี่ยน พูดคุยกัน ในเวทีวันนั้นเองมีตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมจังหวัด พานิชจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด นักข่าว ฯลฯ มาเขาร่วมแลกเปลี่ยนกัน สร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชนบ้านหินสองก้อนเป็นอันมาก วันนั้นมีคนในชุมชนเข้าร่วมกว่า 30 คน
ความพยายามของท่านอาจารย์ดวง และทีมงาน เปรียบเสมือน “การจุดประกายแห่งความหวัง” การลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลชุมชน การนำเสนอข้อมูล มุมมอง ใหม่ๆ ของพื้นที่ การพยายามสื่อสารเรื่องราวของดินสอพอง ในวงกว้าง โดยกลยุทธ์ต่างๆ นับไม่ถ้วน สุดท้ายแล้ว ใครจะไปรู้ว่า จะสามารถขับเคลื่อนงานมาได้ไกลขนาดนี้ ถึงแม้โครงการบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาวะภาคกลาง (12 จังหวัด) จะปิดโครงการลง ตามธรรมชาติของงานวิจัย แต่นั่น ไม่ได้หมายความถึง การปิดตัวลงของ“โครงการสร้างสุขภาวะชุมชน ความยั่งยืนของชุมชนคนทำดินสอพอง เพราะถึงวันนี้ "เชื้อไฟแห่งความหวัง" ที่ถูกจุดไว้เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา กำลังค่อยๆลุกลามไปในชุมชนคนทำดินสอพอง บ้านหินสองก้อนและนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน

ความคืบหน้าล่าสุด (วันที่ 25 ก.ค. 55) กลุ่มชุมชนบ้านหินสองก้อน ได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” อย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมทั้งส่งตัวอย่าง ดินสอพองที่สตุแล้ว ไปตรวจที่อุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอผลตรวจ แต่ชุมชนไม่ละทิ้งโอกาส ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ได้นำดินสอพองดิบ ไปสตุที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และนำไปขายเพื่อทดสอบและหาตลาด ตอนนี้รวบรวมได้ประมาณ 500 กิโลกรัม ก้าวต่อไป ทางท่านอาจารย์ดวง แจ้งให้ทราบว่า ทางศูนย์วิทย์ฯ ยินดีให้ทาง “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” ยืมเครื่องสตุ ไปใช้เพื่อสตุดินสอพองก่อน เนื่องจากจะมีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ที่เมืองทองธานี ในวันที่ 8-22 สิงหาคม 2555 ในงานนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะนำดินสอพองสตุไปจำหน่ายอย่างเป็นทางการในนาม “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน”

ถึงตอนนี้ ดิฉันเอง รู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น นึกถึงใบหน้าของท่านอาจารย์ดวง ทองคำซุ่ย ผู้ซึ่งเสียสละ ทุ่มเท กับงานนี้มานานกว่า 7 ปี ถึงแม้ว่าวันนี้ ชีวิตข้าราชการของอาจารย์จะปิดฉากลงเพราะปัญหาทางด้านสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดฉากของ “วิสาหกิจชุมชนดินสอพองสตุบ้านหินสองก้อน ตรา หนุมาน” และนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของชุมชนคนดินสอพอง ดังที่อาจารย์หวังไว้ ต้องคอยติดตามจังหวะก้าวที่จะเกิดขึ้นต่อไป
บางคนมองเห็นโอกาสและคว้ามันไว้...แต่อีกหลายคนกลับกลัวที่จะคว้าโอกาสนั้น   และนั่น เป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง


โดย กลมกลิ้ง

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเดินทางของห้วยกระเจา สู่ตำบลสุขภาวะ


การเดินทางของห้วยกระเจา สู่ตำบลสุขภาวะ
จุฑารัตน์ กองแก้ว


โดยส่วนตัวของผู้เล่า... ชอบการท่องเที่ยวมากๆถึงมากที่สุด และจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมาท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมงและยังมีความหลากหลายทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือน และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปทำงานในจังหวัดกาญจนบุรี  จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวของตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ให้กับผู้อ่านได้ทราบ...
เดินทางออกจากโรงแรมแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อมุ่งหน้าไปที่ อบต.ห้วยกระเจาเพื่อไปพบกับปลัด อบต. เจ้าหน้าที่ อบต. ที่เป็นผู้ดูแลโครงการตำบลสุขภาวะ และชาวบ้านอีก 1 ท่าน ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนยังไม่ทราบว่าเป็นใคร? พอไปถึง อบต. ก็ได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ท่าทางเป็นมิตร ดูเป็นคนอารมณ์ดี ออกมาต้อนรับเรา และเธอได้แนะนำตัวเองว่าชื่อ พร ทำงานตำแหน่งธุรการ ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลโครงการตำบลสุขภาวะของตำบลห้วยกระเจา และคุณพรก็ได้เล่ารายละเอียดโครงการให้เราฟัง... ตำบลห้วยกระเจาเป็นลูกข่ายของตำบลบางระกำ จังหวัดนครปฐม ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการปรับปรุงเรื่องขยะในชุมชน การสนับสนุนการเลี้ยงหมูหลุม ไก่พื้นเมือง ฯลฯ ...ขณะที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นั้น...ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามา รูปร่างสันทัด ผิวเข้ม เป็นคนมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับการทำงาน คุณพรแนะนำว่า ชื่อคุณประจวบ ทวีสิน เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 เราก็กล่าวสวัสดีพร้อมกับยกมือไหว้ คุณประจวบก็ได้เล่าให้เราฟังว่า... ที่รู้จักโครงการตำบลสุขภาวะจากคุณป้าทิวาพร(ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี) ก็เลยสนใจอยากจะทำโครงการนี้ คุณประจวบจึงได้นำโครงการนี้มาเสนอกับ อบต. ซึ่ง อบต.ก็ได้สนับสนุนเนื่องจากเล็งเห็นว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะทำโครงการได้ คุณประจวบยังเล่าให้ฟังอีกว่า ที่หมู่ 1 มีเครือข่ายปลูกผักปลอดสารพิษ จำหน่ายในชุมชน ส่วนหมู่ 7 เลี้ยงหมูหลุม กลุ่มไก่พื้นเมือง(ปัจจุบันคนหันมาเลี้ยงหมูหลุมกันเยอะขึ้น เนื่องจากหมูหลุมจะไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นมูลหมู) ที่ห้วยกระเจายังเป็นศูนย์การเรียนรู้ศึกษาดูงานการเลี้ยงหมูหลุม นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องการเลี้ยงหมูหลุมแล้ว สมาชิกให้ห้วยกระเจายังได้ไปดูงานศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีดที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งคุณประจวบบอกว่า...ขณะนี้สมาชิกในหมู่บ้านกำลังจะเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดไว้ขายเพื่อเพิ่มรายได้กันแล้ว
...นอกจากนี้ ยังมีการทำปศุสัตว์โดยเฉพาะ การเลี้ยงโคพื้นเมือง  มีจำนวนมากถึง  27,959 ตัว  ซึ่งถือว่าเป็นตำบลที่มีจำนวนโคมากที่สุดในประเทศไทย
ผู้เขียนได้ยินประโยคหนึ่งที่คุณประจวบได้พูดขึ้น “ตู้เย็นข้างครัว ตู้ยาข้างบ้าน” ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเราสามารถทำให้รอบๆบ้านของเราเป็นทั้งตู้เย็นและตู้ยาได้ เป็นตู้เย็น...จากการปลูกผักไว้กินเองแถมได้สุขภาพที่ดีตามมาด้วย(เพราะไม่มีสารพิษ) เป็นตู้ยา...ได้จากการปลูกสมุนไพรพื้นบ้านไว้ใช้เอง
 จากการได้พูดคุยให้ครั้งนี้ผู้เขียนรู้สึกและรับรู้ถึงพลังงานและความตั้งใจทำงานของผู้ใหญ่ประจวบคนนี้เป็นอย่างมาก... ในนามของผู้เขียนเองอยากให้กำลังใจผู้ใหญ่ประจวบและสมาชิกชาวห้วยกระเจาทุกท่าน ผู้เขียนหวังว่าจะได้มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านหมูหลุม(ห้วยกระเจา)แห่งนี้อีกครั้งในคราวต่อไป...

อบต. สมเด็จเจริญ มุ่งสู่ตำบลสุขภาวะ: โอกาสและความท้าทาย


อบต. สมเด็จเจริญ มุ่งสู่ตำบลสุขภาวะ: โอกาสและความท้าทาย
กัลยา นาคลังกา

จากเส้นทางตัวเมืองกาญจนบุรี มุ่งหน้าไปทาง อ.หนองปรือ ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร เราก็มาถึงอบต.สมเด็จเจริญ... ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ที่มาเยือนครั้งแรกที่สามารถมาได้แบบไม่หลงทาง เพราะต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ดูเหมือนจะฝ่าเข้าไปยังภูเขา แต่บรรยากาศสองข้างทางนั้นต้องยกนิ้วให้กับความสดชื่น อุดมสมบูรณ์
อบต. สมเด็จเจริญ อยู่ในอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี โดยในปี 2554 ได้เข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะ ในฐานะที่เป็นอบต.ในเครือข่ายของอบต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นผลให้ชาวตำบลสมเด็จเจริญได้รับโอกาสสำคัญในการทบทวนตัวเอง ถึงจุดเด่น และจุดที่ต้องเสริม เพื่อมุ่งสู่กระบวนการวางแผนให้เป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ
จากการได้เข้าเยี่ยมเยือนและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของอบต. ทำให้พบว่า ที่นี่มีศักยภาพในการยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้อยู่หลายด้าน  ด้วยมีฐานสำคัญที่เสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสมเด็จเจริญ นั่นคือ เป็นเขตพื้นที่ของโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตป่าสงวนที่ถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม ดังนั้นในปี 2535 จึงได้มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่ให้แก่ราษฎรผู้ยากจนเข้าไปประกอบอาชีพ ซึ่งได้จัดเป็นแปลงที่ดินให้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยครอบครัวละ ๑ ไร่ ที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ ๘ ไร่ ทำให้ปัจจุบันสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงประชาชนมีการประกอบอาชีพเกษตรที่ไม่เบียดเบียนป่าไม้ ที่สำคัญโครงการห้วยองคตฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานด้านการบริหารทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานและผู้สนใจทั่วประเทศอีกด้วย  
                และด้วยที่มีแหล่งเรียนรู้หลักอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาด้านอื่นๆ ในชุมชนตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการป่าชุมชน ที่เน้นในเรื่องการป้องกันป่าจากผู้บุกรุก โดยได้มีการจัดให้ชาวบ้านเข้าเวรยามคอยสังเกตการณ์อยู่เสมอ แต่เจ้าที่หน้าได้สะท้อนถึงข้อจำกัดว่า อาจจะยังดูแลได้ไม่เต็มที่ เนื่องด้วยจัดไม่มีระบบการจัดการที่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีเพียงหอคอยให้เฝ้าสังเกตการณ์ แต่มาตรการปราบปรามยังไม่ชัดเจนนัก
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพที่น่าสนใจภายในชุมชน อีกหลากหลายกลุ่ม ที่เป็นแหล่งสำหรับการเรียนรู้และเป็นแหล่งการจ้างงานให้แก่คนในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มสตรีถักโครเช  กลุ่มทำเครื่องดนตรีไทย ซึ่งนอกจากจะทำเครื่องดนตรีขายแล้ว ยังเปิดสอนให้เยาวชนมาเรียนดนตรีฟรีจนสามารถตั้งเป็นกลุ่มดนตรีไทย  กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ และกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่กล่าวมานี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับการขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะ โดยการยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนต่อไป

สำหรับการต่อยอดสำคัญอีกด้านที่เราได้มาเห็นในวันนี้คือ การเป็นต้นแบบเรื่อง พลังงานหมุนเวียน เมื่ออบต.ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปรับพื้นที่บริเวณของอบต.ให้กลายเป็นศูนย์เผยแพร่และถ่ายทอดเรื่องพลังงานและการเกษตร โดยสังเกตได้ชัดเจนว่ามีการจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ฐานคนเอาถ่าน ที่เป็นการสาธิตการเผาถ่านโดยใช้เตาประสิทธิภาพสูง ฐานผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ฐานก๊าซชีวภาพ ฐานเลี้ยงปลาและหมูหลุม และฐานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าครบถ้วน เพียงพอต่อการนำไปทำตามได้ แถมวิทยากรของศูนย์ยังบอกอีกว่านอกจากจะมีการสาธิตและเผยแพร่ความรู้แล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่าย จนมีการเล่าว่าผลิตขายแทบไม่ทัน
แต่สิ่งที่เราเห็นวันนี้เกือบทั้งหมด ได้หยุดทำเสียแล้ว!! ... จึงเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่เราเห็นนั้นเหลือเพียงอาคารเผาถ่าน ที่มีเตาเก่าตั้งอยู่ มองเห็นอาคารผลิตไบโอดีเซลที่ถูกปิดรกร้างไว้ มองเห็นโรงปุ๋ยกับเครื่องผสมปุ๋ยขนาดยักษ์ที่เหลือกำลังการผลิตเพียงอาทิตย์ละไม่กี่กระสอบ มองเห็นโรงสีข้าวชุมชนที่พร้อมให้บริการแต่ยังไม่มีประชาชนมาใช้ แต่ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของเจ้าหน้าที่อบต.ผู้ที่เป็นวิทยากรตัวยงก็ยังอยู่ ด้วยใจที่มุ่งมั่น และรอคอยโอกาสที่จะพลิกฟื้นศูนย์อีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เหตุใดจึงกลายจากสภาพเดิมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้คนหลั่งไหลมาขอศึกษา... บางทีคำตอบอาจอยู่ในใจหลายคนแล้ว แต่โจทย์ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เราจะมีการจัดการให้ศูนย์เรียนรู้เหล่านี้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องได้เองอย่างไร
คำถามนี้ชวนให้นึกถึงรูปแบบการประกอบกิจการอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อสังคม แต่ในขณะเดียวกันตัวองค์กรเองก็ต้องอยู่รอด และดำเนินการได้เองอย่างต่อเนื่อง หรือที่เราอาจเคยได้ยิน นั่นคือแนวคิดของ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่สามารถมีผลกำไรมาลงทุนเพื่อสังคมได้ต่อเนื่อง แต่นี่ก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในความเป็นจริงระบบการบริหารศูนย์เรียนรู้ยังมีบริบทที่ต้องคำนึงถึงอีกหลายส่วน ผู้ดำเนินการเองก็ควรที่จะต้องใส่ใจและหมั่นประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ
เชื่อว่าสำหรับอบต.สมเด็จเจริญเอง หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะแล้ว คงได้ฐานข้อมูลระดับตำบลที่เป็นประโยชน์มาก อันจะนำมาวางแผนการพัฒนาตำบลได้อย่างรอบด้านมากขึ้น รวมถึงได้มองเห็นจุดเด่น และจุดที่ต้องคำนึงถึงโดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนของศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะในชุมชนต่อไป

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"เยือนถิ่นหนองโรง" ต้นแบบตำบลสุขภาวะ

โอกาสของการเรียนรู้มาเยือนอีกครั้ง เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ร่วมกับ "คณะอนุกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนบูรณาการโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง" ของ สสส. งานนี้ ได้เดินทางไปเยือน อบต.หนองโรง เครือข่ายตำบลน่าอยู่ ของสสส. ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี 


พอถึงจุดหมายปลายทาง ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าบ้าน รส สี ของน้ำฝาง ยังจำไม่เคยลืม การทักทายที่เป็นกันเอง คลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทางได้ไม่น้อย


เปิดวงคุยอย่างกันเองด้วยการแนะนำตัวของทุกคน เจ้าภาพซึ่งนำโดยท่านนายกสุวรรณวิชช์ แปรมปรียดิ์  ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา "กว่าจะถึงวันนี้ของหนองโรง" ให้ฟัง 


ราวปี 2515-2517 พื้นที่ 1,800 ไร่ เริ่มมีโรงงานน้ำตาล และมันสัมปะหลังขึ้น  มีความต้องการพื้นที่เพื่อปลูกอ้อย และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น มีการดันป่าเพื่อปลูกพืชดังกล่าว


ปี 2517 เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงในพื้นที่ มีแกนนำถูกยิงตายเป็นว่าเล่น (ณ สถานที่ ที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ ก็มีคนเคยตายอยู่ที่นี่ หนึ่งในนั้นคือ พ่อของท่านนายกนั่นเอง ท่านนกยกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่น และน้ำตาก็ไหลออกมา ระหว่างการพูดคุยกัน) และได้พื้นที่ทั้ง 1,800 ไร่คืนมา


ปี 2520 ได้พื้นที่เปล่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 มีการฟื้นฟู โดยธรรมชาติ ปล่อยให้ป่าขึ้นเอง ระหว่างนั้น ก็เริ่มมีกระบวนการจัดการโดยชุมชน จากกลุ่มคนเล็กๆ เพื่อรักษาป่าผืนนี้ไว้ "ป่าชุมชนบ้านห้วยสพานสามัคคี" โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับป่าสงวนอีก 16,000 ไร่


จนกระทั่งปี 2540 อาจกล่าวได้ว่า "ไม่มีคนเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่อีกแล้ว"  
ถือว่าเป็นการ “ปลูกต้นไม้ในใจคน”อนุญาตให้ตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่มีคนกล้าตัดไปใช้


เริ่มจากการทำงานป่าชุมชน ก่อเกิดความสามัคคี ก่อเกิดกิจกรรมเพื่อเชื่อมร้อยเด็กและเยาวชนคนรุ่นต่อไป ป่าเป็นมากกว่าที่เห็น เป็นได้ทั้งห้องเรียน ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นมหาวิทยาลัย....คุณลุงประยงค์ แก้วประดิษฐ์ ปราชญ์ชุมชน กล่าว


ต่อมาในปี 2544 เริ่มมีหน่วยงานสนับสนุนเข้ามาในพื้นที่ ได้แก่ พอช. สสส. เป็นต้น ทำให้ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการจัดการชุมชน โดยเริ่มจากการรู้จักตนเองก่อน และเริ่มขยายเครือข่ายการทำงานออกไป


ปัจจุบัน ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก อยู่ นอกเขตชลประทาน 


“ทำนาแบบพึ่งพาเทวดา” ชาวบ้านทำนาปีละ 3-4 ครั้ง ทั้งๆที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาบางปีไม่ได้เก็บเกี่ยวเลย (แต่ก็ต้องทำ)


นอกจากนี้ ยังมีการทำปศุสัตว์ในพื้นที่ นั่นคือการเลี้ยงวัวไล่ทุ่ง ซึ่งเป็นวัวพันธุ์พื้นเมืองที่แข็งแกร่ง ตัวเล็ก 


 “วัวลาน...เวรยามชั้นดี”วัวลาน เลี้ยงแบบไล่ทุ่ง เจอไฟไหม้ที่ไหนวิ่งหนีทันที คนเลี้ยงวัว กลายเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ.ของป่าชุมชน  


หนองโรงวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ประชาชนได้มีส่วนร่วมทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เกิดหมู่บ้านสายใยรัก เกิดแหล่งเรียนรู้แบบเชื่อมโยง 33 แหล่งเรียนรู้ใน 7 ระบบ ได้แก่


ระบบบริหารจัดการ
ระบบสวัสดิการชุมชน
ระบบเศรษฐกิจชุมชน
ระบบอาสาสมัคร
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณี
การจัดการป่า และ สิ่งแวดล้อม



ความท้าทายของพื้นที่
1. การรับไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวนำ มีการปลูกฝังเรื่องป่า ประเพณีวัฒนธรรม ให้กับเด็กๆ มีโครงการเด็กรักษ์ป่า กินนอนในป่าทุกปี เป็นการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โอยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีอายุตั้งแต่ 4 ปี ถึง 80 ปี


2. คนช่วงอายุ 30-40 ปี (วัยทำงาน) ปัจจุบัน ร้อยละ 80 ไม่มีการละทิ้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่ แทรกซึมอยู่ในทุกกิจกรรมของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มแปรรูปผลผลิตในชุมชน จนถึงการเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมต่างๆ หากจะมีไปทำงานข้างนอกบ้างก็จะไม่ไกล สามารถไป-กลับได้


มีโจทย์ของชุมชนอีกหลายเรื่องที่ต้องการการร่วมแรงร่วมใจกันหาทางออก แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคของคนในหนองโรงแม้แต่น้อย เพราะอุปสรรคที่ใหญ่หลวงที่สุด คนในชุมชนนี้ได้ก้าวผ่านมาแล้ว การเป็นชุมชนต้นแบบของหนองโรง จะเป็นแนวทางการจัดการชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป 





ด้วยความชื่นชมเป็นที่สุด
กลมกลิ้ง