วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"สู้...คิด...ทำ อย่าง แจ๊ค ผู้เลี้ยงปลา"

ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2554


“ขับรถตรงมาเรื่อยๆ จะมีโลตัสอยู่ทางด้านขวามือ ตรงมาไม่ต้องขึ้นสะพานไปนครชัยศรีนะครับ จากนั้นจะเห็นป้ายสีเบเยอร์ แล้วกลับรถ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอย แล้วค่อยโทรหาผมอีกที...” เจ้าของเสียงทีปลายสาย คอยบอกทางอย่างชัดเจน เป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันการหลงทาง....

เป็นไปดังคาด เราถึงที่หมายโดยไม่หลงทางจริงๆ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังขนาดย่อม แฝงตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ มีกล้วยไม้วางห้อยอยู่อย่างไม่ตั้งใจ เรายืนงงกันสักพัก ก็มีเสียง “เชิญข้างในเลยครับ” ดังออกมาจากมุมหนึ่งของบ้าน แต่เราก็ยังไม่เห็นเจ้าของเสียงนั้น เราลังเลอยู่ว่าจะเดินเข้าไปดีหรือไม่ เพราะเจ้าของบ้านยังไม่ออกมา...แต่แล้วเราก็ถือวิสาสะ เดินเข้าไป ไม่ถึงสิบก้าวจากจุดที่ยืนอยู่ สะดุดเข้ากับเตียงเหล็ก (เหมือนของผู้ป่วยในโรงพยาบาล) และต้นตอของเสียงมาจากที่นี่นะเอง

ยอมรับว่าตกใจนิดหน่อย เพราะไม่คิดว่าจะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ยังนอนอยู่บนเตียง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มากเช่นนี้ เราเดินเข้าไปยกมือไหว้ พร้อมกล่าวคำสวัสดี และแนะนำตัว ที่มาที่ไปเช่นเคย ห้องที่เต็มไปด้วยตู้ปลา และปลานานาสายพันธุ์ ที่เราผู้ซึ่งอยู่นอกวงการปลาสวยงาม แทบไม่รู้จักเลย คุณแม่ ผู้เป็นทั้งแม่และผู้ดูแลพร้อมๆกัน ด้วยอายุที่เข้าสู่วัยเกษียร แต่ต้องดูแลผู้พิการที่อยู่ในบ้านถึงสองคน เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งกำลังแรงกาย และแรงใจ อย่างมาก เห็นร่องรอยความเหนื่อยล้าที่ปรากฏอยู่บนในหน้าแล้วทำได้แค่เพียงแต่ให้กำลังใจ “ไม่เป็นไรหรอก ทำจนไม่รู้จักคำว่าเหนื่อยแล้วว่าเป็นอย่างไรแล้ว” แม่กล่าวทิ้งทายก่อนผละจากห้องนี้ไป

หลังจากถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนาม อายุอานามกันแล้ว ก็อยู่ในวัยเดียวกัน “แจ๊ค” เป็นชื่อคนต้นเรื่องของเราวันนี้ แจ๊ค อายุย่างเข้าวัยทำงาน แต่ทว่า ในชีวิตจริง แจ๊คได้เริ่มทำงาน หาเลี้ยงครอบครัว ที่ซึ่งขาดหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.6 (ปีพ.ศ.2541) การตัดสินใจไม่เรียนต่อหลังจากจบ ม.6 เพื่อมุ่งหวังที่จะดูแลจุนเจือครอบครัว และให้น้องชาย ได้มีโอกาสได้เรียน

อาชีพเลี้ยงปลาสวยงาม เริ่มต้นจากความชอบ พร้อมด้วยทุนอีกประมาณ 80,000 บาทที่รวบรวมได้ในครั้งนั้น ซื้อปลามาเลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้ และมีเจ้าของฟาร์มปลารายใหญ่ มาเช่าบ่อเพาะ “ไรแดง” เพื่อเป็นอาหารปลา การเรียนรู้วิธีการเลี้ยง เพาะพันธุ์ รวมถึงการตลาด อย่างจริงจัง ก็เริ่มต้นขึ้น ณ ตอนนั้นเอง ช่วงแรกเริ่มขายปลาในตลาดปลาสวยงามแถบบ้านโป่ง จ.ราชบุรีก่อน แล้วค่อยๆขยายตลาดไปยังจตุจักร และนำปลาเข้าประกวดทุกปีและได้รางวัลมาตลอด สะสมชื่อเสียงจากการประกวดปลา และด้วยอุปนิสัยที่ชอบช่วยเหลือแก่เพื่อนผู้ร่วมอาชีพ ช่วยเหลือลูกค้าเพื่อให้ได้ปลาที่ต้องการและถูกใจ จึงทำให้ “แจ๊ค” เป็นที่รักใคร่ของคนในวงการปลาสวยงาม

รายได้ที่หมุนเวียนเข้ามาต่อเดือนสูงถึง 35,000 – 40,000 บาทต่อเดือน เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว และมีไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัวบ้าง ด้วยความที่ชอบความเร็ว ชอบการแต่งรถ ถึงขั้นแต่งรถโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ต่างๆ ทำให้มีเพื่อนฝูงไม่น้อยในวงการนี้ และนี่ก็เป็นโอกาสในการขายปลาสวยงามด้วยเช่นกัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีฐานะ เลี้ยงเพื่อประดับบารมี เลี้ยงเพื่อโชคลาภ เป็นต้น

“ผมไม่ใช่คนขายปลา ผมเป็นคนเลี้ยงปลา แต่ปลามันขายตัวมันเอง แล้วมันก็เลี้ยงผม” นี่คือมุมมองในการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามของแจ๊ค “ปลาสวย ปลาไม่สวย กินอาหารเท่ากัน” หลังจากเพาะพันธุ์แล้วเลี้ยงเอง (พ.ศ.2541-พ.ศ.2543) พบว่ามีต้นทุนสูงมากในเรื่องค่าอาหาร และค่าจัดการในส่วนอื่นๆ พ่อค้าปลาสวยงามรายนี้ จึงเริ่มที่จะคัดเลือกปลาที่สวยที่สุดมาเลี้ยง และเพิ่มมูลค่าโดยการส่งปลาเข้าประกวดในเวทีต่างๆ “ปั้นปลา ล่าถ้วย สู่สังเวียน” จนสร้างชื่อได้ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงการปลาสวยงามอยู่ไม่น้อย “ถ้าปลาสวย ก็มีราคา นี่ก็คือปลามันขายตัวมันเอง เราเป็นเพียงแค่คนดูแลเอาใจใส่” ละอีกอย่างหนึ่ง “ผมหาปลาที่ถูกที่สุดให้ไม่ได้ แต่ผมหาปลาที่ดีที่สุดให้ได้”

ประมาณปี พ.ศ. 2550 เริ่มที่จะขยับขยายไปยัง จ.สมุทรปราการ ขนอุปกรณ์ต่างๆได้ไม่ถึงครึ่ง ก็ประสบอุบัติเหตุรถชน ทำให้พิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาชีพเลี้ยงปลาระยะที่หนึ่งนี้ก็ปิดฉากลง เพราะไม่มีใครดูแลปลาต่อได้เลย ไม่ได้ฝึกใครไว้เลย... นอนอยู่โรงพยาบาลเกือบปี ผ่านช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของชีวิตมาได้ จึงเริ่มที่จะเลี้ยงปลาสวยงามอีก ในปี 2551 จึงเริ่มต้นเลี้ยงปลาสวยงามระยะที่สอง ด้วยทุนประมาณ 30,000 บาท แต่ตอนนี้มีทุนอื่นๆ เช่น เพื่อนๆในวงการเลี้ยงปลาสวยงาม ลูกค้ารายเก่าที่เคยติดต่อกันอยู่ ชื่อเสียงที่สะสมมา นี้ก็เป็นทุนที่คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ ด้วยทุนที่มี จึงเริ่มด้วยปลา 6 ตู้ “เลี้ยงปลาที่ตลาดต้องการก่อน แล้วค่อยมาเลี้ยงปลาที่เราชอบ เพราะถ้าเราไม่ชอบปลาที่เราเลี้ยง เราก็จะเลี้ยงแบบไม่มีความสุข” แต่การเลี้ยงปลาครั้งนี้ก็เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิต คิดค้นวิธีใหม่ๆที่จะสามารถทำงานได้ง่าย (ด้วยการสั่ง เพียงอย่างเดียว)

การหาผู้ช่วยที่รู้ใจหายากมาก แม่ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง ก็ทำได้แต่เพียงให้อาหารปลา แต่การเลี้ยงปลา ไม่ได้มีการจัดการเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก เช่น การทำความสะอาดตู้ปลา การย้ายปลา ซึ่งย่อมต่างกันในรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด นี่ยังไม่รวมถึงการจัดการเรื่องการตลาด การหาปลาตัวใหม่เข้ามา ล้วนต้องใช้ทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา แต่การแก้โจทย์นี้ก็เริ่มมีความหวัง เมื่อมีน้อง (จ่าอากาศตรีจิรวัฒน์ เอมเจริญ) ที่ไว้ใจได้ เป็นมือเป็นไม้แทนได้ทุกอย่าง หัวเร็ว เรียนรู้เร็ว ทำให้แจ๊คมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง และตั้งใจจะปั้นน้องคนนี้ให้สามารถยึดอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามเลี้ยงตัวเค้าเองต่อไป แต่แจ๊คก็ใจชื้นได้ไม่นาน เมื่อน้องคนดังกล่าว ได้เสียชีวิตลงเมื่อไม่นานมานี้

โจทย์ใหญ่ในชีวิตก็กลับให้ต้องมาหาทางออกอีกครั้ง แต่แจ๊คก็หวังว่า อีกไม่นานก็คงจะหาทางออกได้เช่นเคย ณ ตอนนี้ เพื่อน คือผู้ให้กำลังใจ และผู้ให้ความช่วยเหลือหลัก การดูแลจัดการ ก็อาศัยจ้างเด็กแถวบ้านมาทำบ้างเป็นครั้งคราว

เมื่อปลายปี 2553 ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรม SME กับทาง สสพ. เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้นำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับอาชีพเลี้ยงปลาสวยงาม ๒ ประเด็นหลักคือ
๑. การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยการสร้างเรื่องราวให้กับปลาที่เราเลี้ยง เช่น พ่อแม่มันเป็นแชมป์เมื่อไหร่ ลักษณะเด่น ด้อย เป็นอย่างไรบ้าง เลี้ยงแล้วจะดีอย่างไรกับผู้เลี้ยงบ้าง นิสัยส่วนตัวของปลาตัวนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น
๒. การคิดต้นทุนของสินค้า แต่เดิม ไม่เคยคำนึงถึงต้นทุนแฝงเลย เช่น ซื้อปลามา ๕,๐๐๐ บาท พอได้ราคา ๕,๕๐๐๐ บาทก็ขายแล้ว แต่เมื่อมาคำนวณถึงต้นทุนแฝง เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าตู้ปลา ค่าแรงในการดูแลปลา ค่าเคลื่อนย้ายปลา เป็นต้น เรียกได้ว่า ขาดทุนเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็คิดใหม่ ทำให้สามารถขายปลาในราคาที่ไม่ขาดทุน แถมได้กำไรอีกด้วย

อนาคต อยากต่อยอดจากการค้าปลาสวยงาม สู่ตลาดสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น การเพาะนกพันธุ์หายาก เป็นต้น รวมถึงการเลี้ยงกล้วยไม้ขายเพราะเป็นสิ่งที่ชอบเช่นกัน ต่อจากนี้ก็ต้อง “สู้(ต่อไป) คิด(ให้มากขึ้น) แล้วทำ(ในสิ่งที่ชอบ)” จากจุดที่แย่ที่สุดในชีวิต และเริ่มที่จะก้าว ยอมรับว่า “ก้าวแรกเป็นก้าวที่ยากมาก และพอก้าวไปเรื่อยๆก็จะเริ่มเจอทางแยกที่มากขึ้น มากขึ้น การตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด นั่นขึ้นอยู่กับว่า ใจเราชอบที่จะไปทางใด”


การพูดคุยกันท่ามกลางเสียงออกซิเจนจากตู้ปลา และปลาสวยงามที่ว่ายไปมา จบลงอย่างรวดเร็ว แววตาของแจ๊คระหว่างที่เล่าเรื่องราวเรื่องปลา ฉายแววของความหวัง ความมุ่งมั่น และความตั้งใจ รวมถึงความภาคภูมิใจ สัมผัสได้จากน้ำเสียงที่ดังฟังชัด ในใบหน้าที่อิ่มสุขเมื่อได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีในชีวิต ทำให้เราประทับใจ และหวังว่าเราจะเจอกันอีกครั้งในไม่ช้านี้












กลมกลิ้ง จริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น