วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เวลาแห่งมิตรภาพ...มักเดินถอยหลังเสมอ



"๑๐ ปี แห่งความหลัง"
ก็เกือบสิบปีแล้วสินะ ที่พวกเราได้รู้จักกันมา แม้ว่าวันนี้จะมีเวลาได้ถามไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกันน้อยกว่า ๑ วัน แต่เพียงเท่านี้ เราก็รู้สึกดีที่วันนี้ยังมีกันและกัน
รถคันโต นำพามิตรที่แสนดีมาเยือนถึงบ้าน รอยยิ้มที่คุ้นเคย ไม่เปลี่ยนไปเลยจริงๆ เราพูดคุยกันจ๊อกแจ๊กๆ ถึงเรื่องความเป็นไปของแต่ละคน โดยมีเด็กตัวน้อยๆ คอยส่งเสียงแจมอยู่เป็นระยะ ส่วนน้องโกจิน คงแอบฟังอยู่เป็นแน่แท้ มื้อนี้ ไปไม่ไกลจากบ้าน เป้าหมายหลักคือร้านอาหาร "มันเซ โคเรีย ๑๐๐๐ แท้" แถวคลองสาม บ่ายโมงแล้ว แต่ละคนจึงทานอาหารมื้อนี้ด้วยความเอร็ดอร่อย ฐานะเจ้าถิ่น เอ่ยปากรับคำว่าจะหาสถานที่ชิวๆ นั่งคุยกันแบบเชยๆ จึงยินดีนำเสนอ "A Cup of Tree" ร้านกาแฟชื่อดี้ดี พอไปถึงที่ ก็ไม่ทำให้ผองเพื่อนผิดหวัง ด้วยเพราะเครื่องดื่มที่หอมกรุ่น พร้อมสนนราคาที่ไม่แพง กับเค้กโฮมเมดที่น่ารับประทานอย่างยิ่ง ทำให้พวกเรานั่งคุยกันนานเกินกว่าที่คาดไว้

เพื่อนดาว เพื่อนเจี๊ยบ เพื่อนเจ ฯลฯ ได้เป็นบทสนทนาแรกๆ ที่เราคุยกัน ได้ update เรื่องราวความเป็นไปของกันและกัน...
วันนี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกก้าวของเพื่อนเจี๊ยบ ที่จะไปจากสังคมเมือง ก้าวสู่สังคมที่คุ้นชิน คือกลับบ้าน พร้อมที่จะเป็นคุณแม่ลูก๑ ลูก๒ ลูก๓ กว่าจะครบ คงกินเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ชีวิตที่จังหวัดตากบ้านเกิด คงดีไม่น้อยสำหรับคุณแม่มือใหม่ และลูกน้อย "โกจิน" และวันหนึ่ง เราหวังว่า จะไปเยื่อนเพื่อนคนดีถึงถิ่นเลยทีเดียว สำหรับเราแล้ว เจี๊ยบ คือเพื่อนที่รู้จักกันมานานกว่า ๑๒ ปี นับตั้งแต่ ม.๖ ที่เราได้เจอกันที่เชียงใหม่ และเราก็โคจรมาเจอกัน ณ หอพักหญิง KMIT'L อีกครั้ง ...
แจ๋วแหว๋ว เป็นเพื่อนที่น่ารัก และความน่ารักกลับเพิ่มขึ้นทุกวัน ความรัก ความห่วงใย หาได้ไม่ยากจากเพื่อนคนนี้ และวันนี้วันที่ได้เจอกันอีกครั้ง ก็ยังเป็นเช่นเคยไม่เปลี่ยนไปเลย...
การพบเจอกันครั้งนี้ รู้สึกได้ถึงหัวใจที่อิ่มเอม และพองโตเต็มที่ ภาาพวันเก่าๆ วนเวียนไปมาในช่วงเวลาพูดคุยกัน ให้ความรู้สึกที่ดีอย่างบอกไม่ถูก
วันนี้ เขียนไม่ค่อยออก สิ่งที่อยากทำ คือ "อยากกอดกันแน่นๆอีกครั้ง"
เวลาแห่งมิตรภาพ...มักเดินถอยหลังเสมอ เพราะเรามักมีความทรงจำดีดี ให้นึกถึงทุกทีที่เจอกัน


ขอบคุณที่เรายังเป็นเพื่อนกัน
ตัวกลม

บันทึกถึงใยไหม ฉบับที่ ๘ "โรงเรียนน้องใยไหม"


ถึงลูกรัก อย่าแปลกใจ ที่แม่ตั้งชื่อบทความนี้ว่า "โรงเรียนน้องใยไหม" ยังคะ ลูกยังไม่ได้ห่างอกพ่อ แม่ ตา ยาย ไปไหนหรอกคะ พวกเรายังคอยดูแลลูกอยู่ แต่ ณ วันนี้ วันที่ลูกอายุได้ ๑ปีกับ๑๐ เดือน ลูกได้ออกสำรวจโลกใบเล็กๆ มากกว่าในบ้าน มากกว่าที่ที่ลูกคุ้นชิน ลูกเริ่มกล้าที่จะออกจากพื้นที่ save zone (พื้นที่ปลอดภัย) แล้ว แม่ดีใจที่ลูกเป็นเช่นนั้น เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่ลูกจะขยายพื้นที่ save zone ของลูกออกไปเรื่อยๆ ก็โลกใบนี้ มันใหญ่กว่าที่ลูกคิดไว้มาก
แม่ อยากมีส่วนร่วมในการขยายพื้นที่ save zone ให้ลูก โดยพาลูกออกจากพื้นที่ที่ลูกคุ้นชิน ให้บ่อยครั้งขึ้น ให้ไปเจอพื้นที่ใหม่ๆ ที่ลูกไม่เคยไป เช่น ไปประชุมกับกลุ่มผู้พิการ ทุ่งนาหลังหมู่บ้านเรา บ้านของเพื่อนบ้านที่แสนดีของเรา มุมที่มืดและลับที่สุดของบ้าน ในกรงของถุงเงินถุงทอง เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ลูกได้สะท้อนผ่านพฤติกรรมหลายๆอย่าง ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
๑. เดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา แม่พาลูกไปประชุมด้วย แม่มีประชุมกับทีมผู้พิการ แม่มีประเด็นแฝงเช่นทุกครั้ง คือ แม่อยากให้คุณตาได้ไปเห็นผู้พิการที่เค้าพิการรุนแรง และออกมาทำงานเพื่อสังคมกัน และนั่นจะเป็นกำลังใจให้คุณตาดูแลรักษาตัวเอง และมีความหวังที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้คะ ส่วนลูก แม่เพียงไม่อยากให้ลูกกลัวเหล่าเพื่อนผู้พิการเหล่านี้ เพราะเค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เช่นกัน ผลที่ได้ เกินคาดคะ นอกจากลูกไม่กลัวแล้ว ลูกยังเข้าไปยืนมองอย่างสงสัย
ลูกประทับใจป้าต่าย ตั้งแต่แรก เพราะป้าต่ายหยิบขนมเค้กกล้วยหอมที่แสนอร่อยให้ลูก และแล้ว ลูกก็นั่งกินอยู่ข้างรถเข็นป้าต่าย ไม่ลุกไปไหนเลย พอขนมหมด ลูกถามว่า "ขยะอยู่ไหนแม่" แล้วลูกก็เอากระดาษที่ห่อขนมไปทิ้ง น่ารักมากคะ และแล้วลูกก็เริ่มสงสัย ว่าทำไมป้าต่ายถึงนั่งบนรถ
"นี่อะไร" ลูกถาม
"รถเข็นคะ" ป้าต่ายตอบ
และก็สอดส่ายสายตาไปรอบๆห้อง ลูกพบว่า คนส่วนใหญ่ในห้องนี้ไม่ได้นั่งเก้าอี้ แต่กลับมีรถส่วนตัวมาด้วย (wheelchair) แล้วลูกก็หันมาหาป้าต่าย แล้วบอกว่า "ป้าต่ายซิ่ง" แม่อมยิ้ม ส่วนป้าต่ายยิ้มปากกว้างเลย เพราะแม่ไม่อาจคาดเดาว่า "ลูกจะคิดว่า สิ่งที่เห็นนั้นมันคืออะไรกัน" แต่ที่สำคัญ ที่วันนี้แม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คือ ลูกไม่กลัวคนพิการ และเมื่อไหร่ที่ลูกเจอคนพิการ ลูกพึงตระหนักไว้เสมอว่า เค้าคือเพื่อน และคือคนเหมือนกับเรา ลูกอย่าได้รังเกียจผู้พิการเป็นอันขาดนะคะลูก
ช่วงเย็นๆ แม่พาลูกไปบ้าน "ต้นคิดทิพย์ธรรม" บ้านนี้ลูกคุ้นชินอยู่ไม่น้อย เพราะไปไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง นับตั้งแต่ลูกเกิดมา วันนี้ลูกได้เรียนรู้วิธีตกปลา ซึ่งลูกเคยเห็นแล้วครั้นตอนที่แม่พาลูกไปทุ่งนาหลังหมู่บ้าน แต่วันนี้ แม่ตกปลาตัวใหญ่(กว่าปลาซิว)ให้ลูกดู (ปลาทับทิม) แต่แล้ว ก็ปล่อยมันไป (กินไม่ลง สงสารมันคะ) แม่อ้างว่า มันยังเล็กอยู่ ยังกินไม่ได้ พอกลับมาที่บ้านเท่านั้นแหละ ลูกเหลือบตามองผ่านตู้กระจก เห็น"หัวโต" (ปลาหมอสี) ตัวบิ๊กเบิ่ม ลูกบอกแม่ว่า "ตัวนี้กินได้แม่ ตัวโตแล้ว" อ้าว ซะงั้น ต้องอธิบายอีกยกใหญ่ ว่า "พี่หัวโต" กินไม่ได้เพราะอะไร

๒. ห้องเรียนธรรมชาติของลูกอีกแห่ง ที่แม่พาลูกไปบ่อยๆ อยู่ไม่ไกลคะ หลังหมูบ้านเรานี่เอง มันเป็นที่ที่ลูกดูจะไม่สนใจนัก ในความคิดของแม่ เพราะเวลาลูกไป ลูกดูจะหงุดหงิด เพราะมันร้อนมาก มีแต่ทุ่งนาสีเขียว กับยอหนึ่งหลัง ที่แม่หอบไปเพื่อตกปลาซิวและกุ้งฝอยกลับมาทอดให้ลูก ครั้งแรก หนักสุด ลูกหลับอยู่ในรถเลย ครั้งที่สอง ลูกก็ออกมาวิ่งเล่นตามคันคลอง พอเหนื่อยและร้อนก็บอก "แม่อุ้มนาาาา" แล้วเราก็ต้องกลับ ครั้งล่าสุดที่ไป ลูกวิ่งเล่น เก็บดอกหญ้า เก็บผักบุ้ง ถามว่า "นั้นอะไร นี่อะไร" กับสิ่งที่ลูกเห็น
แล้วนี่ก็ทำให้แม่เบาใจ ว่า อย่างน้อยลูกก็เริ่มคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ และก็ทนกับอากาสร้อนได้มากขึ้น เพราะทุกครั้งที่ลูกกลับบ้าน ลูกก็ยังสบายดี ไม่ป่วยเลย (แล้วแม่จะพาไปอีกนะคะลูก)

๓. เราโชคดีมากที่มีเพื่อนบ้านที่แสนดี บ้านลุงเผือก-ป้าไหม ข้างบ้านรั้วติดกันเลย กลายเป็นพื้นที่ save zone ของลูกตั้งแต่เมื่อไหร่ แม่ก็ยังไม่รู้ตัวเลย พอได้สติ ลูกก็คุ้นชินกับบ้านนี้แล้ว เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองเลยคะ ถัดมาเป็นบ้านคุณย่าแถม ปู่ยก บ้านนี้ลูกอยู่ได้ไม่นานนัก ถ้าไม่มีพี่ไนท์ คู่หูของลูก ถัดมาก็เป็นบ้านคุณย่าสินะคะ ไปไม่เกินยี่สิบนาที ก็จะกลับบ้านแล้ว ส่วนบ้านหลังอื่นๆ ก็เข้าบ้างเป็นบางครั้ง แต่ต้องมีแม่ไปด้วยทุกครั้ง
บ้านแต่ละหลัง มีความแตกต่างกันไป จึงเหมาะที่จะเป็นแบบฝึกหัดในการทำความ "เคยชิน" ให้กลายเป็นความ "คุ้นชิน" ของลูกคะ

๔. มุมที่มืดและลับที่สุดของบ้านมุมหนึ่ง ที่ลูกยังไม่เคยไปเยือนเลย แม่อยากให้ลูกคุนชินกับความมืด และแคบ จึงหามุมหนึ่งของบ้านที่แม้กระทั่งแม่เองก็ยังไม่เคยเข้าไป (เข้าไม่ได้) แต่แล้วก็กลับกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับลูก และคงดีใจที่เจอที่ซ่อนแอบแห่งใหม่ ที่น้อยคนนักจะหาเจอ (กลายเป็นงั้นไป) สงสัยต้องรอให้โตกว่านี้หน่อย ถึงจะเข้าใจ หรือไม่ก็หาที่ใหม่ ที่ไม่ใช่บ้านเพราะลูกอาจจะไม่กลัวเพราะเป็นบ้านของเราอยู่แล้ว

๕. ในวันที่แดดจัด วันหนึ่ง แม่ล้างกรงให้ถุงเงิน-ถุงทอง พอกรงแห้งแล้ว แม่ก็พาลูกเข้าไปนั่งเล่นและลองปิดกรงดู เป็นไปตามคาด ลูกร้องด้วยเสียงที่เป็นกังวล และไม่เข้าใจว่าแม่ทำอะไร สักพักแม่เปิดกรงออกมาแล้วบอกลูกว่า "นี่เป็นบ้านของถุงเงิน-ถุงทอง และมันต้องนอนอยู่ที่นี่ทุกคืน พอตอนเช้า มันจะร้องให้คนมาเปิดให้ ลูกก็คงเข้าใจแล้วนะคะว่า ทำไมมันถึงต้องร้องโวยวายให้คนมาเปิดให้ เพราะมันอยากออกไปอยู่ที่กว้างๆ เร็วๆ เหมือนลูกที่ร้องให้แม่เปิด ดังนั้น ลูกจงอย่าหงุดหงิด หรือเสียอารมณ์ และลงโทษมันนะคะ ลูกจงเข้าใจในสิ่งที่มันทำ จงเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ถึงแม้มันจะเป็นหมาก็ตาม แล้วลูกก็จะเข้าใจ"


บางครั้ง แม่ยอมให้ลูกเดินเท้าปล่าวบ้าง และช่วงหลัง ก็บ่อยขึ้น แม่รู้ว่ามันเสี่ยงกับการที่ลูกจะได้แผล เป็นดังคาดคะ วันนี้อุ้งเท้าลูกบวม เหมือนมีอะไรดำๆ ตำเท้าอยู่ เพราะเท้าลูกยังบางอยู่ ทำให้ถูกตำได้ง่าย แต่นั่นแหละ มันก็คือการเรียนรู้อีกเช่นกันนะคะลูก ความรู้สึกที่ใส่รองเท้าเดิน กับการเดินเท้าปล่าวนั้นต่างกันโดยสังเกต (ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้ซึ้งถึงความต่างนี้) แม่ก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบถอดรองเท้าเดินบนผิวสัมผัสที่ต่างออกไปเช่น สนามหญ้า หาดทราย ก้อนกรวด ดิน เป็นต้น ส่วนเรื่องแผลก็เป็นบทเรียนที่ดีให้ลูกได้ว่า ถ้าไม่ใส่รองเท้าเดินในหินที่แตก คม จะเป็นเช่นนี้เอง แต่ดีหน่อยที่ลูกแม่ไม่งอแงเลยคะ

ทุกที่ที่แม่พาไป คือโรงเรียนห้องใหญ่ ที่ไม่มีรั้วกั้น และมิอาจกั้นจินตนาการของลูกได้ จงเรียนรู้กับมันอย่างมีความสุขนะคะลูกรัก

จากคุณแม่ตัวกลม


วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ช่วยด้วย "ใครเอาเนยแข็งของฉันไป"

ในวันทำงานวันหนึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน หนังสือเล่มนี้เค้าการันตีด้วย bestseller ตัวอักษะสีขาวพื้นแดง หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า "ใครเอาเนยแข็งของฉันไป (Who Moved My Cheese?)" และเค้าก็บอกว่า "ขายได้กว่า 10 ล้านเล่ม" โอ้ว ต้องอ่านซะหน่อยแล้ว และแล้วด้วยเวลาไม่ถึงชั่วโมง ก็อ่านรอบแรกจบด้วยความงงงงงง แต่ ด้วยความงงนี่แหละ ต้องหยิบไปอ่านต่อด้วยความตั้งใจอีกครั้ง

เมื่ออ่านจบแล้ว ต้องบอกต่อกันเลยทีเดียว เพราะเป็นหนังสือที่ดีมากมาย เบ้อเร่อเฮ่อ ...
ต้องขอขอบพระคุณ... อาจารย์เดชรัต ที่นำพาหนังสือดีดีมาวางไว้ที่ทำงานและทำให้ได้หยิบมาอ่าน...
ต้องขอบพระคุณคนเขียน ... นพ. สเปนเซอร์ จอห์นสัน
และที่สำคัญต้องขอบพระคุณคนแปล ...ดร.สืบศักดิ์ ศิริจรรยา ที่ทำให้เราอ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น

หลังจากที่อ่านแล้ว ...ก็หันมาสำรวจตัวเองว่า เอ๊ะแล้วเราเป็นเหมือนใครในเรื่อง
ตัวเองบอกกับตัวเองว่า ...เราเหมือนเจ้าหนู "สนิฟฟ์"
เพราะว่าเรา ...ไม่เคยทุกข์ร้อนใดในทุกความเปลื่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เราพยายามปล่อยวาง ...เมื่อความเปลื่ยนแปลงนำมาซึ่งความสูญเสีย
เรายิ้มระรื่นได้ทุกครั้ง ...เมื่อความเปลื่ยนแปลงนำมาซึ่งความสุขสมหวัง

แต่อีกตัวตนหนึ่งภายในร่างเดียวกันก็แย้งว่า ...ไม่จริงหรอก ลองย้อนเวลาไปสิ
ลองคิดถึงตอนที่...พ่อเจออุบัติเหตุคาดว่าจะเป็นอัมพาตมันเป็นอย่างไร
ลองคิดถึงตอนที่...จะออกจากบ้านมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยมันเป็นอย่างไร(ร้องไห้อยู่ได้วี่ทุกวัน)
ลองคิดถึงตอนที่...เลิกทำงานแล้วเลือกที่จะเรียนต่อโทนั้นคิดหนักขนาดไหน
ก็นั่นสินะ...ก็เป็นเพราะเราไม่ยอมรับความเปลื่ยนแปลงใช่หรือไม่

และแล้ว ก็ตั้งสติถามใจตัวเองดูอีกที ...เลยปิ้งแว๊ปได้ไม่ยากเลยว่า เราก็เคยเป็นเหมือนทั้ง สนิฟฟ์ สเคอร์รี่ เฮม และ ฮอร์ นั่นแหละ
ก็ในบางเวลา ...เราก็ดันรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย
เช่นว่า เราไม่เคยจะเป็นจะตายเลยเมื่อตอนเป็นสิว...ก็ยังเอาหน้าเยินๆ ด้วยสิวเม็ดโตๆ ออกไปโชว์ได้ทุกที่ อย่าได้แคร์
และในตอนนี้...ก็ไม่ได้จะเป็นจะตายเลยเมื่ออ้วนจนเกือบจะกลิ้งได้อยู่แล้ว
หรือแม้ว่า...คุณพ่อของน้องใยไหมจะอ้วนดำ...ก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ...และยังรักและห่วงใยแถมยังสุขใจอยู่ได้เสมอ

ในบางเวลา ...เราก็เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงซะดิบดี
ก็จะไม่ดีได้ไง...เค้าบอกว่าโลกอาจจะเจอภัยพิบัติ...ก็ไปตุนของแห้ง ยารักษาโรค กระเป๋าชูชีพไว้ซะ...สองปีผ่านไปยังไม่มีโอกาสใช้เลย (บางอย่างก็ดันหมดอายุไปซะงั้ย หุหุ)

ในบางเวลา ...ก็ดันจมปลักกับงานและก็มึนกับมันจนเครียดไปเป็นเดือนๆ
ยังจำได้ดี...นานโขอยู่ที่จะทำใจทำงานนั้นต่อไปได้...ด้วยความสนุก


ถึงอย่างไรแล้ว...เมื่ออ่านหนังสือแล้วสะท้อนดูตัวเอง...ก็รู้สึกว่า...ยังดีนะ...สุดท้ายแล้ว เราก็ยังเรียนรู้และยอมรับมันได้ในที่สุด
นั้นคือ เราได้เรียนรู้วิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในการงานและในชีวิต

อยากให้ครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย ได้อ่านและลองคิดดูว่า เราเหมือนตัวละครตัวไหนกัน
แล้วอย่าลืม เขียนมาเล่าให้กันฟังบ้างนะคะ

.................................................
ด้วยความปรารถนาดีจาก

กลมกลิ้งตัวแม่

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

NPI Thailand ChapterI

"เริ่มแล้วคะ เค้าเริ่มทำกันแล้วคะ" ก้าวแรกของงาน NPI (National Progress Index)

ช่วงหนึ่งของชีวิต ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน "แผนงานขับเคลื่อนสังคมด้วยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง" ได้เปิดหู เปิดตา ฝ่าเข้าไปในสมองซีกขวา แล้วจินตนาการออกมาเป็นภาพของเมืองไทย ที่เวลาใครจะทำอะไรหรือตัดสินใจอะไรสักอย่าง เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน ก่อนที่จะวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งตรงเผงกับเป้าหมายของการทำงาน NPI เลยคะ ในวงของการพูดคุยกันเรื่อง NPI นั้น มีเป้าหมายในช่วงแรกเริ่มของโครงการ"ไม่มาก ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ ก็สบายมาก" คือ

"การสร้างวัฒนธรรมการวางแผน และการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่สะท้อนภาพของการพัฒนาในมิติต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้การวางแผนและการตัดสินใจเป็นไปโดย การใช้เหตุผลอย่างรอบครอบ เพื่อสร้างสมดุลของการพัฒนา และสร้างภูมิคุ้มกันในการพัฒนา)"
โดยงานนี้ เค้ามีโค๊ดไม่ลับ ในการสร้างรหัสทางวัฒนธรรมในการทำงาน ที่น่าสนใจมาก
ก่อนที่เราจะ โอเค เราคงเคยมีความรู้สึกแบบว่า "เอ๊ะ(นี่มันเรื่องอะไร) อ๋อ(เรื่องมันเป็นอย่างนี้นี่เอง) อืมม์(คนอื่นก็มีมุมมองที่น่าสนใจเหมือนกันนะ ก็โอ(เค)นะ" อะไรประมาณนี้หรือเปล่า

นี่แหละคือ "รหัสทางวัฒนธรรมในการทำงาน"
เอ๊ะ : สนใจและสงสัยในข้อมูลที่สะท้อนภาพการพัฒนา
อ๋อ : ค้นหาสาเหตุและทางออก
อืมม์ : รับฟังมุมมองอื่นอย่างตั้งใจ
โอ(เค) : พร้อมตกลงใจร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง

โครงการนี้ได้ได้เริ่มออกสตาร์ทอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมี

“การลงนามภาคีความร่วมมือ แผนงาน ขับเคลื่อนสังคมด้วยดัชนีความก้าวหน้าของชาติ (National Progress Index)”
งานแถลงข่าวเปิดตัวแผนงานขับเคลื่อนสังคมดัวยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง
พฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2554 เวลา 9.30 – 12.00 น.
ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
 หรือ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ (สวนรถไฟ)



โดยมี นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนายการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
นางดวงกมล อิศรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนทางสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งชาติไทย
และทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. เป็นตัวแทนในการลงนามครั้งนี้
และได้พูดคุยในเรื่องของนิยามมุมมองความก้าวของสังคมไทย ดังนี้



นพ.อภิชัย มงคล
“ในสังคมที่มีความเชื่อมโยงเป็นสายสัมพันธ์ซึ่งกัน เราจะต้องมองมิติความก้าวหน้าที่มากกว่าเรื่องเรื่องเศรษฐกิจ หรือตัวเงิน เพียงอย่างเดียว ในขณะนี้ข้อมูลมีอยู่แล้วในทุกๆภาคส่วน อยู่ที่ว่าเราจะนำข้อมูลมาสะท้อนความยั่งยืนของประเทศไทยให้ไปในทิศทางไหน ในการร่วมขับเคลื่อนในครั้งนี้ สำนักงานสถิติฯจะ ได้มีโอกาสนำข้อมูลมาร่วมบูรณาการกับภาคส่วนวิชากร ต่างๆ จากหลายๆภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐเอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อที่ข้อมูลตรงนี้จะได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ วางแผนประเทศภาคส่วนต่างๆต่อไป”




นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์
“หลายท่านคงแปลกใจถึงที่มาที่ไปของการมาร่วมของ กรมสุขภาพจิตในครั้งนี้ จะพบว่าผลจากการสำรวจที่จะได้นำเสนอต่อไปในวันนี้ ถามว่าประชาชนให้ความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อชีวิตของพวกเขาในเรื่องอะไรบ้าง ผลจากการสำรวจพบว่า ประชาชนให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิต เป็นเรื่องต้นๆรองจากเรื่องสุขภาพกาย จึงเห็นว่า กรมฯควรจะเข้ามาสนับสนุนการเคลื่อนไวอันนี้ ทั้งนี้เนื่องจาก กรมฯเองก็มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนในสังคมไทย เราอยากจะนำความสุขมาร่วมสนับสนุนความก้าวหน้าเพื่อให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี”




นางดวงกมล อิศรพันธุ์
“เป้าประสงค์หลักของทีวีสาธารณะ คือ ความต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคข่ายต่างๆในสังคมมาร่วมกันพัฒนารายการด้วยกัน และได้นำเสนอประเด็น รวมทั้งสาระต่างๆทางหน้าจอโทรทัศน์ หรือสื่อที่ Thai PBS มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และส่งเสริมให้สังคมเกิดสุขภาวะ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะที่จะได้เป็นภาคี และนำความรู้มาร่วมกัน พัฒนาเป็นรายการโดยใช้ดัชนีวัดความก้าวหน้าของประเทศมาเพื่อนำเสนอให้เข้าถึงประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกหนึ่งแรง”




ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
“คิดว่าเป็นมิติของการทำงานเชิงวิชาการและการสื่อสารต่อสังคมอย่างเป็นระบบ ด้วยมีความร่วมมือจากภาคีต่างที่มาในวันนี้ ถ้าเปรียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ หากเดินทางผิด ก็จะส่งผลให้ธุรกิจ หรือประเทศแย่ลง ไม่มีความสุข และไม่มีความก้าวหน้าที่แท้จริง เมื่อก่อนมีหลายคนพูดว่าเมื่อเศรษฐกิจดีแล้วประเทศก็จะดีขึ้นเอง แต่ข้อมูลที่ออกมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ยืนยันได้เป็นอย่างชัดเจน แม้รายได้ GDP ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศก้าวหน้าอย่างแท้จริง ประเทศที่จะไปได้ดีควรจะมี ดัชนีความก้าวหน้าของชาติ หรือเรียกสั้นๆว่า NPI ที่จะเป็นตัวสำคัญในการชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ และจะต้องสร้างความสมดุลในด้านต่างๆซึ่งแผนงานนี้ก็จะได้พัฒนาเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นต่อไป เรื่องที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ ทั้งผู้คิดค้น/กำหนด ผู้ขับเคลื่อน ผู้รับรู้หรือประชาชน ควรจะเข้าใจในแผนงานนี้ให้เป็นไปในทางทิศเดียวกัน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะได้สื่อสารข้อมูลชุดนี้นี้ออกไปสู่ประชาชนเพื่อประชาชนจะได้สะท้อน มีการสำรวจสาธารณะมติของประชาชนว่าประชาชนมีความคิดเห็นต่อทิศทางนั้นๆอยางไร ไม่ใช่เพียงแค่นักวิชาการวงล็กๆมานั่งทำกันเท่านั้น เราก็คาดหวังว่าประเทศเราจะมีบัญชีความก้าวหน้าของประเทศขึ้นมา
ก็เหมือนกับทางด้านเศรษฐกิจก็จะมีบัญชีประชาชาติด้านเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด ของการแผนการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ภาคส่วนต่างๆคงจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ข้อมูลจากงานแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือ “แผนงาน ขับเคลื่อนสังคมด้วยดัชนีความก้าวหน้าของชาติ (National Progress Index)”

หากใครอ่านแล้วมีคำถามว่า จะติดต่อทีมงานหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน จัดให้เลยคะ ตามนี้นะคะ
แผนงานขับเคลื่อนสังคมดัวยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าที่แท้จริง
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) 87/495 หมู่บ้านภัสสรรัตนาธิเบศร์ (ซอย 31)
ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
โทรศัพท์ 02-9209691-2 โทรสาร 02-9208845
e-mail: npithailand.th@gmail.com
facebook: "Npi Thailand"
www.npithailand.com
(ขอบคุณคุณศิริวัฒน์ แดงซอน จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะที่ให้ข้อมูล)

และแล้ว การทำงานที่ท้าทายและน่าสนุกสนานก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง
แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังใหม่นะคะ

จากกลมกลิ้งตัวแม่คะ